ปลัดมหาดไทย บรรยายพิเศษระบบสารสนเทศเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ชื่นชมสุรินทร์ ต้นแบบการพัฒนาระบบ เน้นย้ำทุกพื้นที่ต้องบูรณาการข้อมูลให้มีความทันสมัย ถูกต้อง ทำให้ทุกหมู่บ้านยั่งยืน ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย บรรยายพิเศษโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดระบบเฝ้าระวังผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมบางกอก พาเลซ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยมี นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ดร.ก่อเกียรติ แก้วกิ่ง ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง กรมการปกครอง พร้อมด้วยเจ้าพนักงานปกครอง/ปลัดอำเภอ และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) จาก 76 จังหวัด ร่วมรับฟัง และถ่ายทอดสดไปยังที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ตลอดจนพนักงานฝ่ายปกครองและผู้นำท้องที่ ทุกคนมีหน้าที่สำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อนำแนวทาง วิธีการจากการฝึกอบรมไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ ด้วยการแปลงนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ช่วยกันทำให้งานบรรลุถึงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ได้ตามอุดมการณ์ของข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องน้อมนำพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นแน่วแน่ที่อยากเห็นประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข พระองค์ท่านมีความละเอียดลึกซึ้ง และมีสายพระเนตรอันกว้างไกล จึงพระราชทานแนวทางการบรรลุเป้าหมายด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด

...

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า ยาเสพติด เป็นสิ่งผิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากพวกเรา แต่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความผาสุกของประเทศชาติ และของสังคมไทย คนที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไม่น้อยถูกสารในยาเสพติดกล่อมประสาทจนกลายเป็นคนจิตเภทหรือหลอนยา หากพ่อแม่เสพยาก็ทำร้าย ก็ฆ่าลูก หากลูกหลานเสพยา ก็ฆ่าปู่ย่า ตายาย ทำร้ายพ่อแม่ ปรากฏตามสื่อต่างๆ พวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดี มีความสุขของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญ ต้องมีใจ มี Passion อยากทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ด้วยการช่วยกันคิดในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติดในองค์รวม ซึ่งคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยมีเป้าหมายหลัก คือ กระบวนการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ และความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการรวมกลุ่ม 10-20 ครัวเรือน ช่วยเหลือดูแลสมาชิกภายในกลุ่มซึ่งกันและกัน หากเราทำได้อย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ปัญหายาเสพติดหรือปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป 

“เพราะเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่ การลงมือทำสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่คนไม่เพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องอาศัยทุกคนช่วยกัน เราก็จะมีข้อมูลข่าวสารของทุกครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารเรื่องยาเสพติด ที่ทุกคนจะช่วยกันสอดส่องดูแลคนในครอบครัว ในชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งตามกฎหมายนั้นเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ไม่จำเป็นต้องนำตัวผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดไปดำเนินคดี แต่ให้โอกาสในการบำบัดรักษาฟื้นฟูให้ผู้ป่วยยาเสพติดได้กลับคืนสู่สังคมโดยปกติสุข”

สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ อันเป็นที่มาของการอบรมครั้งนี้ เกิดจากในการประชุมติดตามนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดถึง 76 จังหวัด โดย นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับระบบสารสนเทศของจังหวัดสุรินทร์ หรือ Surin DRUGs GIS ซึ่งเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่จะทำให้เรามีข้อมูลใช้ในการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขยาเสพติดได้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มอบหมายให้กรมการปกครอง โดยศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง พัฒนาระบบ MOI DRUGs GIS โดยนำเอาข้อมูลสารสนเทศของทุกจังหวัด ทุกส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารวมกัน และมีระบบติดตามประมวลผล เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ตาม 8 มาตรการ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย 

อีกทั้ง การมีข้อมูลแบบ Real Time เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และบูรณาการข้อมูลของแต่ละส่วนราชการร่วมกัน จะเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติด และ MOI DRUGs GIS จะทำให้ทุกคนช่วยพัฒนาระบบการทำงาน สนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือผู้บังคับบัญชา ให้ทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการมีใจและมีจิตอาสา เราต้องใช้ความกล้าช่วยกันหาคนที่มีใจมาช่วยกันเติมเต็มพัฒนาระบบสารสนเทศให้สมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

“ขอให้พวกเราทุกคนกลับไปประยุกต์และพัฒนา โดยเฉพาะการใช้ระบบสารสนเทศบูรณาการข้อมูลให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน มีความทันสมัย ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน นำข้อมูลของภาคีเครือข่ายมาป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ในเชิงระบบ กระทรวงมหาดไทยยังได้มอบหมายให้กรมการปกครองร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืนให้ประสบผลสำเร็จในรูปแบบกองทุนแม่ของแผ่นดินภาคประชาชน เป็นการน้อมนำสิ่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ดำเนินการต่อต้านยาเสพติด โดยพระราชทานเงินขวัญถุง 878 หมู่บ้านต่อปี เราจึงขับเคลื่อนให้เกิดหมู่บ้านต่อต้านยาเสพติดในรูปแบบกองทุนแม่ของแผ่นดินแบบจิตอาสาให้ครบทุกหมู่บ้านทั้งประเทศ มีเป้าหมายรณรงค์และป้องกันไม่ให้ลูกหลาน เยาวชน รวมถึงคนในชุมชน ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด”

ในช่วงท้าย นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะมีแรงบันดาลใจ มีจิตใจที่นึกถึงประเทศชาติและคนไทย ซึ่งในเดือนนี้เป็นเดือนสำคัญ วันที่ 12 สิงหาคม หรือ วันแม่แห่งชาติ พวกเราจะน้อมนำเอาพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับภัยของยาเสพติดโดยสังเขปว่า “ยาเสพติดทำให้คนเป็นสัตว์ป่า” ด้วยการช่วยกันสนองพระราชปณิธานแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อร่วมกันปฏิบัติบูชา เนื่องในปีอันเป็นมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 92 พรรษา 

จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกับภาคีเครือข่ายไปช่วยกันพัฒนาระบบสารสนเทศในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ด้วยหัวใจข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแม้พวกเราทุกคนจะมีการเกษียณอายุราชการ แต่จะไม่เกษียณการทำความดี ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานไว้โดยสังเขปว่า “แม้จะเกษียณอายุราชการ แต่ต้องไม่เกษียณจากการทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองตลอดไป”