“นายกฯ เศรษฐา” มั่นใจ ก.เกษตรฯ บริหารจัดการ “ปลาหมอคางดำ” ได้ หลังหลายฝ่ายกังวล ปัญหาน้ำหลากอาจแพร่ไปพื้นที่อื่น “ธรรมนัส” แจงแผนบริหารจัดการน้ำ 3 ปี ชงเข้า ครม.ในเดือนนี้ เชื่อไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ
วันที่ 5 สิงหาคม 2567 ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ หากเกิดน้ำท่วมและน้ำหลากไปยังพื้นที่ต่างๆ ว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการเสนอมาตรการไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตนเชื่อว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องเรื่องน้ำ หรือปลาหมอคางดำ เราได้มีการพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่แก้อย่างหนึ่งแล้วเกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ทั้งนี้มั่นใจว่ากระทรวงเกษตรฯ ดูแลดีอยู่แล้ว และมั่นใจว่าเรื่องปลาหมอคางดำจะบริหารจัดการได้
...
ทางด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนบริหารจัดการน้ำระยะ 3 ปี โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้รับผิดชอบ และให้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อขออนุมัติใช้งบประมาณ 500,000 กว่าล้านบาท ดังนั้นเรื่องงบประมาณไม่น่าจะมีปัญหา จะมีทั้งโครงการใหม่ การปรับปรุงโครงการเดิม การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำ ซึ่งเป็นแผนดำเนินการของกรมชลประทานอยู่แล้ว ส่วนรายละเอียดขอให้ สทนช. ทำแผนให้เรียบร้อยและได้ข้อสรุปชัดเจนก่อน ขณะที่การประเมินสถานการณ์น้ำปี 2567 ก็มีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่จะถึงนี้ด้วย
เมื่อถามถึงการรับมือกับน้ำหลาก ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ปัญหาคือแหล่งเก็บน้ำต้นสาขาที่มีไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ในแผน 3 ปี และในปีนี้ก็มีแผนเฉพาะหน้า โดยแผน 3 ปีนี้ ไม่ได้ดูแค่เรื่องน้ำท่วม แต่บริหารจัดการน้ำแบบทุกไตรมาส ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา หลายโครงการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการที่มีแผน 3 ปี จะช่วยลดขั้นตอนระบบราชการลง และใช้งบประมาณให้ตรงกับจุดที่ต้องการแก้ไขปัญหา.