ขอย้ำว่า เรื่องราวต่างๆที่เป็นข่าวอยู่ในแวดวงการเมืองขณะนี้ ยังเป็นเพียงข่าวลือที่คอการเมืองสนทนากันอยู่เท่านั้น เริ่มต้นที่ ปฏิญญาเขาใหญ่ มีภาพของผู้นำทางการเมืองไปตีกอล์ฟร่วมกัน โฟกัสไปที่จุดใหญ่ๆคือระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร กับ อนุทิน ชาญวีรกูล ถึงเจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธว่าเป็นการจัดกิจกรรมพักผ่อนวันหยุดกันธรรมดาไม่มีการพูดเรื่องการเมืองก็ไม่มีใครเชื่อ คนระดับนี้มาตีกอล์ฟร่วมกันในสถานการณ์แบบนี้ ต้องมีอะไรมากกว่า ธรรมดาแน่นอน

ข้อแรก การเมืองหลังวันที่ 7 ส.ค. จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด สมมติ ก้าวไกล ถูกยุบจะเกิดกระแสมวลชนกดดันอย่างไรแค่ไหน มีผลกระทบมาถึงเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ เช่น สมมติ มี สส.ของพรรคก้าวไกลที่เป็น สส.เขต แห่กันไปอยู่กับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง โดยเฉพาะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ สมมติว่าเป็น พลังประชารัฐ หรือ ภูมิใจไทย จะทำให้สัดส่วนโควตา รมต.เปลี่ยนไปหรือไม่ หรือถ้าคิดเล่นๆว่า ก้าวไกล ไฟเขียวให้ สส.ไหลไปรวมที่พรรคลุงพรรคเดียว การเป็นแกนนำรัฐบาลจะเปลี่ยนจาก เพื่อไทย เป็น พลังประชารัฐ ทันที หรือถ้ามารวมกับ ภูมิใจไทย ก็จะกลายเป็นพรรคเสียงข้างมาก

ว้าวุ่นเลยทีนี้

กระทบไปถึง เสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อไทย และ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน มองข้ามไปจนถึงการพิจารณาชี้ขาดคุณสมบัตินายกฯของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 14 ส.ค. ในสถานการณ์ที่การเมืองสุกงอมพอดี ไม่ว่า นายกฯเศรษฐา จะรอดหรือไม่รอด ก็ต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคงต่อไป จากผลพวงการยุบพรรคก้าวไกล

ทางออกคือการ ปรับ ครม. และ การปรับโครงสร้างพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ โดยการดึง พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วม เพื่อให้เสียงรัฐบาลมั่นคงมากขึ้น 314 เสียงรัฐบาลเพื่อไทยปัจจุบัน ไม่ได้การันตีว่า 40 เสียงของพลังประชารัฐ 71 เสียงของภูมิใจไทย และ 36 เสียงของรวมไทยสร้างชาติจะเป็นเอกภาพ

...

มีทางเดียวคือดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

ในภาพที่ดึงไม่ได้ทั้งพรรค จะมีเฉพาะกลุ่มของหัวหน้าพรรค เฉลิมชัย ศรีอ่อน เท่านั้น ที่พร้อมจะเข้าร่วมรัฐบาล ถึงตอนนั้นการร่วมรัฐบาลของประชาธิปัตย์ก็ไม่ต่างจากพลังประชารัฐ ในปัจจุบัน

ก็จะเหลือพรรคก้าวไกลในอนาคต เป็นพรรคฝ่ายค้านกับพรรคเล็กอีกไม่กี่พรรค

เสถียรภาพของพรรคร่วมรัฐบาล จึงขึ้นอยู่กับ สนิมเนื้อใน ทั้งหมดนี้เพราะเป็นการประเมินศักยภาพของ ก้าวไกล ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญ ต้องการเอาชนะในสนามเลือกตั้งแค่ด้านเดียว

แต่ลืมประเมินเสถียรภาพภายใน เพียงเพราะต้องการประคับ ประคองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอาไว้ให้ได้เท่านั้น สถานการณ์การเมืองจึงไม่ต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ภายใต้อำนาจของพรรคร่วม

ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม