“กัญชาเสรี” อาจจะเป็นปัญหาการเมืองที่เถียงกันไม่จบง่ายๆ เพราะเป็นนโยบายเรือธงที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย เช่นเดียวกับโครงการเติมเงินหมื่นบาทดิจิทัลวอลเล็ตของพรรค เพื่อไทย แม้ว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะได้จับมือกับพรรคภูมิใจไทย เพื่อพบกันครึ่งทางด้วยการออกกฎหมายควบคุมกัญชา
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศว่า กัญชามีคุณประโยชน์รอบด้านกินก็ได้ เป็นยารักษาโรคก็ได้ และ “พี้” เพื่อสันทนาการก็ได้ คอการเมืองเชื่อว่ากัญชาทำให้พรรค ภท.เลื่อนสถานะจากพรรคเล็กมาเป็นพรรคขนาดกลางและเป็นพรรคระดับต้นๆในขณะนี้
เริ่มจากการเป็นพรรคอันดับที่ 5 ได้ สส. 51 ที่นั่ง ในปี 2562 พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในปี 2566 ได้ สส. 71 ที่นั่ง และเป็นพรรคอันดับ 2 ในรัฐบาลคอการเมืองเชื่อว่านโยบายกัญชามีส่วนสำคัญ แต่หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่จู่ๆนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็สั่งรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
เนื่องมาจากนักธุรกิจไม่เคยเป็นนักการเมือง นายกรัฐมนตรีอาจคิดว่าตนมีอำนาจสิทธิขาดจะสั่งการใดๆก็ได้ จึงสั่งให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด โดยไม่ได้บอกกล่าวพรรค ภท. เจ้าของนโยบาย ก่อให้เกิดความมึนตึงระหว่าง พท. กับ ภท. ในจังหวะที่ ภท. มีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะ สว.ชุดใหม่
แม้นายกรัฐมนตรีจะยอมเสียหน้า ยอมกลับหลังหันด้วยข้อเสนอพบกันครึ่งทาง ให้การออกกฎหมายควบคุมกัญชา แต่อาจกลายเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เครือข่ายแพทย์ นักวิชาการและภาคประชาชน ออกแถลงการณ์เตือนว่าประเทศใช้กัญชาเพื่อสันทนาการมากว่า 2 ปีแล้ว มีผลกระทบเป็นที่ประจักษ์ทั้งด้านสังคมและสุขภาพ
ประเทศไทยมีทางเลือก 2 ทาง คือใช้กฎหมายควบคุมกัญชาโดยไม่กลับไปเป็นยาเสพติด แต่กว่าร่างกฎหมายจะผ่าน “สภา” ประเทศไทยก็จะอยู่ในภาวะใช้กัญชาเพื่อสันทนาการถึง 4 ปี จะมีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นปีละ 95,140 และ 21,048 คน จะมีผู้ป่วยติดกัญชาและเป็นโรคจิต 549,048 และ 29,052 คน เพิ่มขึ้น 7 และ 29 เท่า
...
ทางเลือกที่ 2 นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด อยู่ภายใต้การควบคุมของ ป.อาญายาเสพติด ห้ามใช้เพื่อสันทนาการใช้เพื่อการแพทย์ได้ จะทำให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มลดลงสู่ภาวะปกติ ก่อนการยกเลิกเป็นยาเสพติด เมื่อปี 2565 เมื่อร่างกฎหมายผ่านสภา ประเทศไทยจะอยู่ใต้ภาวะกัญชาสันทนาการ 2 ปี พรรคการเมืองจะเลือกทางใด.
คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม