“อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” ชี้ ปมยุบพรรคก้าวไกลไม่เชื่อมโยงรัฐบาล โยนถามพรรคที่จะเปิดตัว สส. เพิ่ม ไปเอามาจากไหน แต่เพื่อไทยไม่มีนโยบายดูดจากพรรคอื่น ชี้ สว.สายใด ยึดสภาสูงหรือไม่ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไก และให้โอกาสในการทำหน้าที่

วันที่ 3 ส.ค. 2567 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวหลังวันที่ 7 ส.ค. พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเตรียมเปิดตัว สส.เพิ่ม 10 คน ว่า แม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถือเป็นกิจการภายในของแต่ละพรรค ก็เป็นแนวทางและเป็นสิทธิที่แต่ละพรรคจะสามารถดำเนินการได้ ส่วน สส.ที่เตรียมจะนำมาเปิดตัวเพิ่มอีก 10 คนนั้นจะมาจากพรรคไหนก็ต้องไปถามพรรคที่จะเปิดตัวเองว่าจะนำ สส. 10 คนมาจากไหน พรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายที่จะดูด สส.จากพรรคอื่น เพราะมี สส.ในจำนวนที่เพียงพอที่จะสามารถขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้อยู่แล้ว โดยส่วนตัวไม่อยากให้โยงการยุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกลไปกับทุกฉากทัศน์ทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นไปทั้งหมดทุกฉากทัศน์ เมื่อผลคำวินิจฉัยออกมา ส่วนใดต้องดำเนินการก็ดำเนินการเป็นส่วนๆ ไปไม่เกี่ยวโยงกัน เช่น กรณีพรรคถูกยุบ สส.จะต้องหาพรรคสังกัดใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน 11 กรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง รองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาจต้องพ้นหน้าที่ไป จะมีขั้นตอนการดำเนินการต่อจากนี้อย่างไร ถือเป็นฉากทัศน์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะกรณียุบหรือไม่ยุบพรรคก้าวไกลเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย และไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ส่วนการดำเนินการของแต่ละพรรคจากกรณีนี้ต้องไปถามจากแต่ละพรรคเองและถือเป็นสิทธิของแต่ละพรรคที่จะมีแนวทางการดำเนินการออกมาจากกรณีนี้ต่อไปอย่างไร

นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึงกรณี สว.สายสีน้ำเงินยึดสภาสูง ว่า สว.จะมีการแบ่งกลุ่มตามข่าวหรือไม่ สว.สีใด สายไหน กลุ่มใด จะมีบทบาทมากหรือน้อย ก็คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกและกติกาตามรัฐธรรมนูญ เพราะทุกอย่างมาจากผลลัพธ์ของกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยยึดมั่นและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงและยุ่งเกี่ยวตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่ง สว. ส่วนการทำงานระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ก็เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น สว.กลุ่มใด จะยึดหรือไม่ยึดสภาสูงก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันเอง หากเห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่ง สว.แนวทางนี้ไม่ตอบโจทย์ ไม่ได้คนที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ตรงปก ไม่ตรงกลุ่ม ไม่ยึดโยงกับประชาชน ก็สามารถเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา คือ สส.และ สว. นอกเหนือจากนั้น สว.ชุดนี้ก็จะมีบทบาทการรับรองผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่จะไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯร่วมกับ สส. ดังนั้น สว.จะไม่มีส่วนเข้ามาเป็นตัวต่อรองในสภาล่าง และจะพลิกเกม พลิกขั้วอย่างไรก็ไม่สามารถผลักดันนายกฯสำรองได้ และทุกฝ่ายควรให้โอกาส สว. ชุดนี้ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในบทบาทหน้าที่ของตัวเองก่อน

...