“ชัยธวัช-พิธา” แถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ยกข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย 9 ข้อ ยืนยันศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี ชี้ กกต.ยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยัน สส.ไปม็อบ และช่วยประกันตัว คดี 112 ไม่ได้หมายความว่าสนับสนุน

วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ทั้งข้อต่อสู้ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงหลักการและเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยในส่วนของนายชัยธวัช ได้แถลงถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมายทั้ง 9 ข้อของพรรคก้าวไกล ซึ่งประกอบด้วย

1) การพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตีความเขตอำนาจต้องตีความอย่างเคร่งครัด ในกรณีใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมไม่มีอำนาจรับไว้ในการพิจารณาวินิจฉัยได้ 

2) การยื่นคำร้องในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการเสนอคดีของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้สั่งยุบพรรคก้าวไกลตามมาตรา 96 วรรค 1 (1) และ (2) ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มิชอบด้วยกฎหมาย ละเลยไม่รอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นเกี่ยวกับคำร้องก่อนเสนอคดี

3) การเสนอคำร้องนี้ เป็นข้อหาที่แตกต่างจากข้อหาในคดีเดิมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แต่ กกต. กลับไม่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดๆ รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้นก่อนการเสนอคดีต่อศาล

...

4) นอกจากการนำเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคำร้องมิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล การกระทำใดจะเป็นการกระทำของพรรคการเมืองได้ จะต้องเป็นการกระทำโดยมติของคณะกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นการกระทำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าถือให้เป็นการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งถือว่าเป็นการกระทำของพรรคด้วย

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารพยานหลักฐานจากคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ไม่เคยมีการไต่สวนพยานบุคคลที่ถูกอ้างอิงถึง และไม่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นถูกจัดทำขึ้นโดยประจักษ์พยาน ข้อเท็จจริงตามเอกสารไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าบุคคลต่างๆ ที่ได้กระทำการไปโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นผู้สั่งการหรือบงการแต่อย่างใด อีกทั้งความเห็นตามเอกสารของเจ้าหน้าที่รัฐที่จัดทำขึ้นภายหลังเหตุการณ์ ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ศาลไม่อาจรับฟังได้

5) การกระทำตามที่ กกต. กล่าวหาทั้งหมด มิได้เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการระบอบการปกครอง ทั้งกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ไม่ได้เป็นการใช้กำลังบังคับ หรือการกระทำโดยใช้ความรุนแรง เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นระบอบการปกครองอื่น แต่เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังกฎหมายประกาศใช้

ในอดีตเคยมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 หลายครั้ง แต่ก็มิเคยนำไปสู่การล้มล้างการปกครองหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างใด และกรณีการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้หาเสียง เป็นเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ต่อไป 

ส่วนกรณี สส. พรรคก้าวไกลไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในสถานที่ต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มิได้จำเป็นว่าจะต้องเห็นด้วยกับประเด็นข้อเรียกร้องในการจัดการชุมนุมและ สส. ก็ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด

อีกทั้งกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกลใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา 112 นั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลย ส่วนกรณีที่มี สส.พรรคก้าวไกล ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น คดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมและยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้การกระทำผิดตามมาตรา 112 ต้องได้รับโทษเป็นรายบุคคล หาได้ถือว่าบุคคลและพรรคการเมืองที่บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่อย่างใด

6) ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล แม้ในระบอบประชาธิปไตยของบางประเทศ การยุบพรรคการเมืองสามารถกระทำได้ แต่จำต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายในการพิทักษ์รักษาหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยตามแนวคิดประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ 

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 แต่คดีดังกล่าวเป็นการพิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการดังกล่าว จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งยุบพรรคอีกต่อไป

7) แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 

8) การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการล้มล้างการปกครองหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง กฎหมายได้บัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้น เมื่อกรณีตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 เป็นกรณีเดียวกัน การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก็สมควรจะกำหนดระยะเวลาในลักษณะเดียวกัน คือควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปีตามที่ กกต. ร้องขอ

9) การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคในชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ไม่ใช่รวมถึงกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์