“บรรเจิด” ชี้ ต้องไม่เปิดทาง “ธุรกิจน้ำเมา” ร่วมเป็น กก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสี่ยงเกิดการค้าไม่เป็นธรรม ดึงสติรัฐ หวังโกยรายได้ท่องเที่ยว แต่ต้องไม่ทิ้ง สุขภาพ ปลอดภัยประชาชน เชื่อ หากปล่อยฟรีขาย การดื่มเพิ่ม ยอดเจ็บ-ตายบนถนน พุ่ง

วันที่ 2 ส.ค. 2567 จากกรณีรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ...ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ตลอดจนมาตรการผ่อนคลายการจำหน่าย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ท่ามกลางกระแสว่า มีภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามผลักดันให้ผู้แทนภาคธุรกิจเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายด้วย

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ตามหลักการในการตั้งคณะกรรมการนั้นต้องดูว่า เป็นชุดไหน หากเป็นคณะกรรมการทางด้านการส่งเสริม ก็จะดึงผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย แต่หากเป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ตามหลักการแล้วจะไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการ แต่จะให้เป็นผู้แทนจากกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม ระหว่างกระบวนการยกร่างกฎหมายนั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพื่อนำไปประมวลผลประกอบการพิจารณา ออกมาตรการต่างๆ ได้

“คณะกรรมการควบคุมเราจะไม่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการ เพราะสิ่งที่ควบคุมส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่สินค้าทั่วไป หรือเรื่องทั่วไป เพราะโดยสภาพของมันแล้วจำเป็นจะต้องมีการควบคุมมิติใดมิติหนึ่ง กรณีอย่างนี้จึงไม่ให้ผู้ผลิตหรือคนขายหรือคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการ” ศาสตราจารย์บรรเจิด กล่าว

...

สำหรับ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีอยู่ 3 ระดับ 1. คณะกรรมการนโยบายเครื่วดื่มแอลกอฮอล์ชาติ จะมีการกำหนดให้มีที่ปรึกษาเชื่อมโยงได้ 2. คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 3. คณะกรรมการแอลกอฮอล์จังหวัด ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมฯ จะเห็นว่า เราไม่ได้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการด้วย ส่วนที่ให้เข้ามาตามกฎหมายเขียนว่า “องค์กรภาคเอกชน ทางด้านการคุ้มครองต่างๆ” ซึ่งเป็นองค์กรที่จะสะท้อนผลกระทบจากสินค้าตัวนี้ ต่อประชากรกลุ่มต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีกระแสข่าวว่า จะมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการนั้น ตนไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ แต่คิดว่า การจะให้ภาคธุรกิจเข้ามานั่งเป็นกรรมการโดยตรงจะส่งผลกระทบกับอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการออกกฎระเบียบมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง การที่มีภาคธุรกิจเข้ามาเป็นกรรมการจะทำให้ เขาสามารถปรับมาตรการของธุรกิจเพื่อรองรับมาตรการที่จะออกมาล่วงหน้าได้ นำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในกลุ่มของผู้ผลิตและกลุ่มผู้ขายเอง ซึ่งทราบมาว่าองค์การอนามัยโลกกำลังจับตาในประเด็นนี้ของไทย

ศาสตราจารย์บรรเจิด ยังได้กล่าวถึงนโยบายผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวนั้น ในฐานะที่ตนทำร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เริ่มต้น จะเห็นว่า เมื่อ 30-40 ปี ก่อนที่จะมีกฎหมายควบคุม มีเพียงพระราชบัญญัติสุรา ที่มีเพียงมาตรการทางภาษีเท่านั้น ไม่มีมาตรการควบคุม ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเลย ทำให้อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า และเกิดปัญหาอุบัติเหตุ เสียชีวิตบนถนน การเกิดอาชญากรรมและผลกระทบต่างๆ จากสุรานำมาส่งปัญหาเรื่องสุขภาพมากมาย จึงเป็นที่มาของการมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ห้ามการดื่มได้ 100% แต่สามารถคุมได้ในบางบริบท เช่น วัน เวลาขาย เรื่องสถานที่ในการดื่ม สถานที่ขาย เป็นต้น และช่วยลดปัญหาในอดีตได้ ขณะที่ผลจากการนำร่องเปิดสถานบันเทิงตี 4 ก็ทำให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วว่า อุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่นำร่องสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

“เรื่องนี้มีการอภิปราย ในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากยังไม่มีตัวเลขเชิงประจักษ์ว่าจะมีผลดีในเชิงเศรษฐกิจ ไม่มีผลกระทบ ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการได้ การเปลี่ยนแปลงหลักการทางกฎหมายต้องทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่ทางที่ดีกว่า เช่นตัวเลขทางเศรษฐกิจดีกว่า ไม่มีผลกระทบมากมาย ก็สามารถเปลี่ยนแปลงหลักการได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรที่เป็นคุณค่ามากกว่า การจะมาปรับเปลี่ยนหลักการ จะเป็นการพิจารณาด้านเดียว แน่นอนว่ามันเป็นทิศทางนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่จะเพิกเฉยกับสุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไม่ได้ นี่ไม่ใช่หลักการร่างกฎหมายที่ดี เศรษฐกิจ กับสุขภาพ ความปลอดภัยต้องสมดุลกัน” ศาสตราจารย์บรรเจิด กล่าว

ส่วนตัวคิดว่า กฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยนับว่า มีมาตรการที่เข้มแข็งในเรื่องนี้ เป็นมาตรการที่ช่วยฉุดรั้ง หรือเตือนสติทำให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้สะดวก รวดเร็วมาก แน่นอนว่าถึงจะไม่ได้ลดตัวเลขมากนักแต่ก็ทำให้ผู้บริโภคได้ตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จะซื้อ หรือบริโภคได้เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกจำกัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไป แต่เป็นสินค้าที่มีผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อสังคม ซึ่งทุกวันนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ในปี 2023 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 18 หรือประมาณ 25 คนต่อแสนประชากร สาเหตุหนึ่งมาจากการดื่มแอลกอฮอล์เพราะฉะนั้นหากเรายังไม่มีมาตรการที่จะกดตัวเลขการเสียชีวิตบนท้องถนนที่มากกว่า 20,000 คนได้ เชื่อว่าถ้าเปิดมาตรการ ผ่อนคลายการขาย การดื่มมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีมาตรการรองรับเชื่อว่า จำนวนอุบัติเหตุ และเสียชีวิตบนท้องถนน จะเพิ่มขึ้นจาก 20,000 คนแน่นอน.