นายกฯ ติดตามความพร้อมการป้องกันและรับมือน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม. พร้อมประสานส่วนกลางร่วมมือแก้ปัญหาน้ำท่วมเต็มที่ เน้นย้ำเตรียมพร้อมดูแลพื้นที่เปราะบาง สั่งดูงบฯ สร้างเขื่อนปทุมธานี รับมือน้ำเหนือ ยัน ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มาจับผิด 

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการป้องกันและรับมือน้ำท่วม ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ เขตดินแดง กทม. โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัด กทม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า จริงๆ แล้ววันนี้มาให้กำลังใจเพราะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และหน้าฝนปีนี้มาเร็ว ทุกคนก็ทำงานได้เป็นอย่างดี ไม่เป็นปัญหามากกับพี่น้องประชาชน แต่เนื่องจากว่าปีนี้ปรากฏการณ์ลานีญาทำให้มีฝนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงหนือ มีปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ กทม. ในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ช่วงลอยกระทง รัฐบาลและ กทม. จึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ

...

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กทม. เตรียมการเฝ้าระวัง และการประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง พร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเหตุการณ์เฉพาะหน้าในเรื่องปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำ รวมถึงการเตรียมพื้นที่แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำรอการระบาย และเตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนด้วย รวมถึงการควบคุมปริมาณน้ำในคลองต่างๆ ต้องให้เกิดความเหมาะสม หากฝนตกน้ำทะเลหนุนก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ 

ในส่วนการขุดลอกท่อระบายน้ำ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัจจุบันได้กำชับ กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเขายินดีที่จะช่วยอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ฝ่ายความมั่นคงก็ช่วยในเรื่องของการขุดลอกคลอง การกำจัดขยะวัชพืชตามท่อระบายน้ำจุดต่างๆ พร้อมขอให้ทาง กทม. ร่วมงานกับฝ่ายปกครอง กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ในการจัดการทุกมิติอย่างเต็มที่ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ เพราะงานนี้ไม่ใช่งานง่าย ประกอบกับปีนี้น้ำเยอะ จึงขอฝากด้วยแล้วกัน

ทางด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ กทม. มีทั้งหมด 4 สาย ประกอบด้วย น้ำเหนือ น้ำฝน น้ำทะเลหนุน และน้ำตามทุ่ง หากมาพร้อมกันก็จะเป็นปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ส่วนการป้องกันจะมี 2 แนวทาง คือ เส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ที่จะช่วยเรื่องของการระบายน้ำ โดยเส้นเลือดใหญ่คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเส้นเลือดฝอยจะเป็นการระบายน้ำตามคูคลองสายย่อยต่างๆ ที่จะต้องขุดลอกคูคลองรอรับการระบาย

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามว่าพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่น้ำท่วมมีเยอะในพื้นที่ กทม. แต่มีบางพื้นที่ที่เป็นชุมชนแออัดและเปราะบาง ประชาชนเดือดร้อนแน่ๆ ถึงแม้ฝนไม่ได้ตกมาเยอะ แต่เรารู้แน่ว่าพื้นที่ตรงนี้มีปัญหา เช่น ชุมชนบ่อนไก่ ที่เกิดปัญหาเป็นประจำ และเราเคยลงพื้นที่มาแล้ว ตรงนี้จะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะมีการจัดการแบบโปรแอ็กทีฟ (Proactive) โดยผู้ว่าฯ กทม. ตอบว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการแล้วให้ดูแลพื้นที่ชุมชนเปราะบางเป็นอันดับแรกของการแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมใน กทม. และตนได้สั่งการในทุกเขต รวมถึงลงพื้นที่ชุมชนเปราะบางแล้ว และมีการนำเครื่องสูบน้ำไปไว้ในพื้นที่ชุมชนเปราะบางด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า หากมีโอกาสตนจะร่วมลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วย และที่ถามเรื่องพื้นที่ชุมชนเปราะบาง ไม่ใช่เป็นการจับผิด แต่เพื่อเป็นการไปช่วยกันทำงาน

ต่อมา นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการตามแนวพระราชดำริด้านการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมในเขต กทม. และเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีการปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถสื่อสารได้ทั้งทางวิทยุและโทรศัพท์ พร้อมทั้งสอบถามแนวเขื่อนกั้นน้ำในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ที่ยังไม่มี โดยได้เรียกทีมงานมาเก็บข้อมูลเพื่อหาทางแก้ปัญหา หลังเสร็จสิ้น นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มาให้กำลังใจและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ กทม. ถึงการดำเนินการรองรับพื้นที่เปราะบาง และมาตรการดูแลประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วม ในเรื่องเขื่อนที่ปทุมธานี ที่ยังไม่มีการสร้าง ได้สั่งให้ทีมงานไปดูว่าเอางบประมาณตรงไหนมาทำได้บ้างอย่างรวดเร็ว.