ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ดอดแจง กมธ.อว. ปมมาตรการช่วยประชาชน หลัง “ปลาหมอคางดำ” ระบาด ยันไม่ได้เป็นต้นตอ ถามกลับ มันเกิดจากอะไรกันแน่ นำเข้า 2,000 ตัว แต่มีข่าวส่งออก 300,000 ตัว ย้ำนำเข้าปลาถูกกฎหมาย กว่าจะเข้ามาได้ยุ่งยากมาก เผยเตรียมแผนดึงปลาออกจากระบบไว้ 5 โครงการ รับซื้อ-ปล่อยนักล่า-วิจัย
วันที่ 1 สิงหาคม 2567 อาคารรัฐสภา นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม เรื่องการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า วันนี้ชี้แจงตามที่เคยบอกไปแล้วไม่มีอะไรเพิ่มเติม ส่วนโครงการช่วยเหลือก็เป็นไปตามโครงการที่กำลังทำอยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมาชี้แจงเรื่อง 5 โครงการ และมีอีก 2 สถาบันที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ก็ได้พูดกับคณะกรรมาธิการว่า สถาบันจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่อยากเข้ามาร่วมโครงการ แต่โครงการทั้งหมดเป็นโครงการที่สนับสนุนมาตรการของรัฐบาล ซึ่งเราคิดว่าควรมีส่วนช่วย เมื่อมีกระแสเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่นเดียวกับกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้าไปช่วยส่งอาหารไปตามที่ต่างๆ หลายล้านกล่อง ก็เป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกัน
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะช่วยดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุด 2 ล้านกิโลกรัม สนับสนุนปลา 2 แสนตัว เพื่อช่วยกันกำจัดให้เร็วขึ้น รวมถึงเรื่องย่อยอื่นๆ และผลงานวิจัยที่สามารถช่วยได้มากน้อยขนาดไหน แล้วเรื่องทำอาหารน่าจะเร็ว
เมื่อถามว่าจะมีการเปิดเผยภาพหลักฐานบ้างหรือไม่ นายประสิทธิ์ ระบุว่า ตนเองอาจมีการพูดมากไม่ได้ บางภาพที่ออกมาก็ไม่ถูกต้อง แต่ยืนยันว่าเราส่งซากให้กรมประมงไปแล้ว และเราชี้แจงเพียงพอแล้ว ย้ำว่าเราทำตามกระบวนการ ให้เราส่งของไปให้ ก็ติดต่อประสานงานส่งของไปตามที่ได้ตกลงกัน ส่วนจะแถลงเพิ่มเติมหรือไม่ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา
...
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟ นำปลาหมอคางดำเข้ามา 2,000 ตัว แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 300,000 ตัว ซึ่งคิดเป็น 150 เท่า จึงน่าจะมีการพิจารณาว่าการแพร่กระจายเกิดจากอะไรกันแน่ เราเชื่อมั่นว่าไม่ได้เกิดจากเรา ส่วนเกิดจากอะไรต้องให้คณะกรรมการธิการ หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตนเองก็ไม่ทราบนโยบายของทางภาครัฐ ก็ต้องเป็นไปตาม และฝากนักข่าวพิจารณาเพิ่มเติมว่ามาจากไหน แต่เราคงแสดงความคิดเห็นมากไม่ได้
เมื่อถามย้ำว่า มีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า มันมีข่าวอยู่แล้ว เพราะมีการส่งออกปลาหมอคางดำจาก 11 บริษัท ไป 17 ประเทศ เห็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่างๆ ที่มีการสืบค้นเพิ่มเติม
นายประสิทธิ์ ยืนยันว่ากระบวนการจัดการของบริษัทอยู่ในมาตรฐานสูง เรายืนยันกับทางกรมประมงไปแล้วว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นลูกปลาอยู่กับเราแค่ 16 วัน หากใครที่เคยเลี้ยงปลาจะทราบว่าปลาที่นำเข้ามา 2,000 ตัว เมื่อมาถึงสนามบินเหลืออยู่ 600 ตัว และสภาพก็ไม่แข็งแรง ก็แสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือไม่แข็งแรง ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่มาตรวจเช็คที่สนามบินถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจำนวนปลาที่ตายทำไมถึงเป็นตัวเลขกลมๆ นั้น กล่าวว่า เป็นตัวเลขที่มีการนับกันโดยคาดประมาณการ
นายประสิทธิ์ กล่าวถึงเหตุผลการนำเข้าปลาหมอคางดำในขณะนั้น ว่า นำเข้าเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ซึ่งรายละเอียดต้องให้นักพัฒนาสายพันธุ์ปลาเป็นคนตอบ ตอนนั้นนำเข้ามาเกิดจากการประชุมการพัฒนาสายพันธุ์ที่มหาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 เกิดเป็นไอเดียในการนำเข้ามา ก็นำมาทดลอง และกระบวนการยุ่งยากกว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากใช้เวลากว่าจะนำเข้า ก็จนถึงปี 2553 เมื่อปลาไม่สมบูรณ์ก็ปิดโครงการ ในระยะเวลาทั้งหมด 16 วัน ซึ่งการฝังซากปลาก็ทำตามระบบขั้นตอน โดยฝังภายในฟาร์ม.