ประชุม อนุฯ แก้ "ปลาหมอคางดำ" องค์กรกฎหมายส่งตัวแทนร่วมหารือ เตรียมถกค่าเสียหาย คาดรวมกว่าหมื่นล้าน จ่อเชิญ "ซีพีเอฟ" รอบ 3 หลังเห็นแววดี แถลงจะร่วมมือภาครัฐ "ณัฐชา" ชี้ 7 มาตรการไม่ตอบโจทย์ ยัน ไม่ฟอกขาวใคร หมดหน้าที่ ต้องมีคนติดคุก

วันที่ 1 ส.ค. 2567 อาคารรัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ แถลงก่อนการประชุมในวันนี้ ว่า ได้มีการเชิญสำนักงานอัยการสูงสุด / กระทรวงทรัพย์ฯ / คกก.กฤษฎีกา เพื่อที่จะหารือเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดจากปัญหาปลาหมอคางดำระบาด โดยทั้ง 3 หน่วยมาส่งตัวแทนมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะดำเนินการเอาผิดได้ ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าร่วม

นายณัฐชา กล่าวว่า สิ่งที่เห็นวันนี้ วันนี้ต้องเดินหน้าเอาติดกับต้นตอสาเหตุให้ได้ ซึ่งวันนี้จะได้ข้อสรุปข้อกฎหมายทั้งหมด ที่คณะอนุฯ จะส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่ากรมประมง กระทรวงเกษตรฯ / กระทรวงทรัพย์ฯ จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนการประเมินค่าเสียหายมีตัวอย่างชัดเจนแค่ตำบลเดียว คาดว่าประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี แต่วันนี้ระบาดไป 17 จังหวัด ที่ยังไม่ได้ประเมิน ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีมูลค่าเสียหายต่างกันไป หากรวมแล้วอาจจะถึงหมื่นล้านบาท

...

นายณัฐชา ยังกล่าวถึง บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่จะฟ้องสื่อมวลชนและมูลนิธิ ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูล โดนแย้งว่า พื้นที่ที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงได้ดีที่สุด คือ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตนได้เน้นย้ำไปแล้วว่า ทุกปัญหาของสังคม ออกมาจากการประชุมของคณะอนุฯ ชุดนี้ หากต้องการโต้แย้ง หรือทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ ก็ควรที่จะมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ ขณะที่หน่วยงานรัฐ ยินดีที่จะเปรียบเทียบข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งจะคลายข้อสงสัยให้ประชาชนได้

ขณะที่การแถลงข่าวทุกครั้ง บริษัทฯ กล่าวว่ายินดีจะให้ข้อมูลกับภาครัฐ ซึ่งเราขอความร่วมมือไปแล้ว 2 ครั้ง ความยินดียังไม่ได้ ดังนั้นถ้ายินดีสนับสนุนกับหน่วยงานรัฐ เราเห็นข่าวแล้วยินดีที่จะเชิญมาเป็นครั้งที่ 3 อย่างไรก็ตาม ตนขอปรึกษากับประธานคณะอนุกรรมาธิการก่อน

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า วันนี้หลายมีฝ่ายลงพื้นที่ รวมถึงภาครัฐที่ลงพื้นที่หนักมาก วันนี้ก็ที่แสมดำ เขตบางขุนเทียน แต่นอกเหนือจากการลงพื้นที่ ประชาชนยังรอ 7 มาตรการของรัฐ ที่ใช้งบ 450 ล้านบาท ในการแก้ปัญหา ซึ่งตนเห็นว่า ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะ 7 มาตรการที่ออกมาสังคมทำอยู่แล้ว ทั้งการจับ ล่า แปรรูป แต่สิ่งที่เขารอคอยคือ สาเหตุ สิ่งนี้ไม่ได้ยินจากฝ่ายบริหารเลย รวมถึงยังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อปั๊มหัวใจเกษตรกร ที่ล้มหายตายจากในรายวัน

นายณัฐชา ยืนยันว่า คณะอนุฯ เอาจริงกับการแก้ปัญหา ไม่ใช่การฟอกขาวให้กับเอกชน วันนี้เราต้องการทำข้อสงสัยของสังคม เมื่อเข้าใจไม่ตรงกัน จะเกิดปัญหากระทบกระทั่ง สิ่งเดียวที่ทำได้คือให้ความจริงปรากฏ ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ถ้าความจริงปรากฏเราจะรู้ว่าใครคือต้นตอ และจะบรรเทาอาการโกรธแค้นของเกษตรกรที่อยู่ในภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการสิ้นสุดลง จะต้องมีผู้ที่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งกระทรวงทรัพย์ ที่รับผิดชอบเรื่องระบบนิเวศ  ก.เกษตรกร ที่มีลูกค้าเป็นเกษตรกร, ก.มหาดไทย ที่ดูเรื่อง ปภ. ที่ยังไม่มีการบรรเทาภัยให้ประชาชน รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ต้องนั่งหัวโต๊ะ แก้ไขปัญหา อย่าให้มีการครหาเหมือนกับหมูเถื่อน ที่นายกฯแอ็กชั่น ตอนแรกแบบนี้ ซึ่งย้ำว่าจะไม่ให้ปลาเถื่อนจบแบบหมูเถื่อนแน่นอน

นายณัฐชา ถามถึงคณะทำงานตามหาความจริง ใน 7 วัน ที่ถูกตั้งที่โดย รมว.เกษตรฯ นั้น วันนี้ผ่านมา 7 วัน ตนขอตามหา คกก.ตามหาความจริง ให้เจอก่อน แล้วความจริงจะปรากฏ ซึ่งตนขอให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะตอนนี้ยังไม่มีความจริงปรากฏ จะทำให้ประชาชนเห็นได้ว่าความจริงใจของรัฐบาลเป็นอย่างไร