ปลัด มท.หารือ เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ยกระดับร่วมมือเชิงรุกแก้ยาเสพติดชายแดนไทย-ลาว สร้างความเข้มแข็งชุมชน พร้อมขับเคลื่อน “หมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด” ให้เกิดขึ้นทุกหมู่บ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนยั่งยืน

วันที่ 31 ก.ค. 67 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลโทณัฐพงศ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร และคณะ ในโอกาสหารือกรอบแนวทางการยกระดับความร่วมมือเชิงรุกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชายแดน ไทย-ลาว โดยมี นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคง นายมานะ สิมมา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง พลตรี ยุทธภูมิ บุญฤทธิ์ รองเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร พันเอก ดำรงค์ จันทร์กาบ หัวหน้าสำนักงานเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร พันเอก วุทธิพัฒน์ ปรัชญ์ฐากรณ์ ผู้อำนวยการกองกิจการชายแดนไทย-ลาว สำนักกิจการชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน นางสาวศรีตระกูล เวลาดี ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ ป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมหารือข้อราชการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด กับท่านพลโท ณัฐพงศ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหารและคณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในที่เราให้ความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก เรามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งจากชุมชน เพื่อทำให้เกิดหมู่บ้านปลอดยาเสพติด “หมู่บ้านสีขาว” โดยให้กรมการพัฒนาชุมชนและกรมการปกครองจับมือร่วมกันดำเนินการจัดตั้ง “หมู่บ้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองทุนแม่ของแผ่นดิน” ในรูปแบบภาคประชาชน ตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย ให้ครบทุกหมู่บ้าน

...

“กระทรวงมหาดไทย มุ่งมั่นน้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อนำกลไกมาต่อยอดและเกื้อกูลให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นคุ้มบ้านอย่างเป็นระบบ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกมิติ ซึ่งมีตัวชี้วัด (KPIs) อาทิ การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัย มีความมั่นคงทางอาหารและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปราศจากยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางที่ช่วยให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน เช่นเดียวกันกับหมู่บ้านในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว.

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเชิงระบบ กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนร่วมกับ ป.ป.ส. ตำรวจ ทหาร ผลักดันให้ประเทศไทยมีการติดตั้งเครื่อง X-ray ตรวจยาเสพติด ตาม จุดผ่านสำคัญ ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้เรามีด่านป้องกันยาเสพติดแบบถาวร รวมถึงด่านทางทะเล หรือตามท่าเรือต่างๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจค้น ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังเป็นหน่วยงานในการสนับสนุน ด้วยสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปช่วยสนับสนุนงานของฝ่ายความมั่นคงได้ นอกจากนี้ เรื่องการพัฒนาระบบสารสนเทศในการแก้ไขปัญหายาเสพติด กระทรวงมหาดไทย ใช้กลไกในระดับพื้นที่ในระดับภูมิภาค บูรณาการข้อมูลของผู้ป่วย ผู้เสพ และผู้ค้ายาเสพติดของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่จังหวัด ทั้งหน่วยงานตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ราชทัณฑ์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีกลไกความร่วมมือด้านยาเสพติดในระดับพื้นที่ชายแดน (ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัดชายแดนไทย-ลาว และเจ้าแขวง 5 แขวงของ สปป.ลาว และกลไกคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) ไทย-ลาว ซึ่งที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นในด้านการค้าชายแดนและความสัมพันธ์อันดี ซึ่งต่อไปจะมุ่งเน้นเรื่องความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้มากยิ่งขึ้น

ด้านพลโท ณัฐพงศ์ เพราแก้ว เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กล่าวว่า การเข้าพบหารือราชการในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเห็นชอบร่างกรอบแนวทางการยกระดับความร่วมมือเชิงรุกในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชายแดน ไทย-ลาว เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมกันในการขับเคลื่อนเรื่องยาเสพติด รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ร่วมแก้ไขปัญหา และนำความสุขมาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศได้มากยิ่งขึ้น โดยมี 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การประสานงานด้านการข่าว มีการร่วมลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ยงบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น 2) การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการสืบสวนและการขยายผลการจับกุม 3) การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ให้ประชาชนห่างไกลยาเสพติด และ 4) ความร่วมมือในระดับพื้นที่ของทั้งสองประเทศ รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงและกองกำลังในพื้นที่ชายแดน เพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุมหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองฝ่าย