"พัชรวาท" รองนายกฯ และรมว.ทส.เชิดชูเกียรติ จนท.พิทักษ์ป่า รักษาทะเล “วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก” World Ranger Day ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำ UAV Mobile operation ดูแลพื้นที่คุ้มครองทางทะเล
วันที่ 31 ก.ค. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เนื่องด้วยวันนี้เป็น “วันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก” หรือ World Ranger Day จึงอยากให้ ประชาชนได้เห็นถึงความเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่ง ในการรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นการศึกษาวิจัยและแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จึงกล่าวได้ว่า ที่พวกเราทุกคนได้มีทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายเลน รวมถึงทรัพยากรทางทะเล ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่นี้ ส่วนหนึ่งต้องแลกมาด้วยการอุทิศตนปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ยากลำบากและเสี่ยงภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อันจะหาผู้ปฏิบัติได้น้อย ถือเป็นการกระทำอันมีเกียรติ ควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่มุ่งมั่นเสียสละ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน แต่ด้วยขนาดพื้นที่ในการเฝ้าดูแลนั้นกว้างใหญ่ หากเปรียบกับปริมาณ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่มีอยู่ไม่มาก โดยปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จำนวน 25,752 ราย อยู่ใน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 521 ราย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 19,633 ราย และกรมป่าไม้ จำนวน 5,598 ราย ตนจึงได้กำชับให้ ทั้งสามหน่วยงาน หาแนวทางในการดูแลและสวัสดิการต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและมั่นคงในการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกท่าน ที่เสียสละทั้งร่างกาย ชีวิตและจิตวิญญาณเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยไว้ให้คนรุ่นหลัง รวมถึงสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงานให้เป็นระบบ มีมาตรฐาน และลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในการเข้าปะทะกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
...
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการบริหารจัดการดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าชายเลนและทรัพยากรทางทะเล ถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่อำนวยประโยชน์ให้กับประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม และจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันปกป้อง ดูแล พิทักษ์ รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์กว่า 1.74 ล้านไร่ ครอบคลุม 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล และท้องทะเลไทยได้รับการปกป้อง ดูแล พิทักษ์ รักษาให้คงความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทรัพยากรที่สำคัญเหล่านี้เป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ภายใต้การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) จำนวน 29,355 คน เป็นภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการพิทักษ์รักษาทะเล ให้คงความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และกรมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและพร้อมสนับสนุนในการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และรักษาทะเล ที่เปรียบเสมือนแนวหน้าในการปกป้องดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติอันล้ำค่าของชาติ มีภารกิจหลักในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลรักษา ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำหน้าที่ปฏิบัติงานลาดตระเวนเฝ้าระวังติดตามป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ทรัพยากรป่าชายเลนและการลักลอบตัดไม้ ควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย และการล่า ค้า ครอบครอง นำเข้าส่งออกสัตว์ทะเล และการปกป้องท้องทะเลไทย ที่ทุกท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และเสียสละ เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันทรงคุณค่านี้ อีกทั้งการให้บริการแก่ประชาชน การให้ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ จิตสำนึก ปลูกฝังให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่อีกด้วย ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้กรมทะเล นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงานให้เป็นระบบ มีมาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในการเข้าปะทะกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติเนื่องจากความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
กรม ทช. มีแนวทางการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือที่เรียกว่า "SMART Patrol" ทั้งด้านทางทะเล และทางป่าชายเลนและชายฝั่ง ที่ทางกรมฯ ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย ได้นำระบบฯ ดังกล่าว มาใช้ในรูปแบบการดำเนินงานโดยใช้ระบบ Smart ในการลาดตระเวน ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างแผนการลาดตระเวนผ่าน web Application การลาดตระเวนตามแผนผ่าน Mobile Application การตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติงานตามแผน และการออกรายงาน ผลการลาดตระเวน ผ่านระบบบริหารจัดการลาดตระเวนป่าชายเลนเชิงคุณภาพ ที่ผ่านมาในปี 2566 มีการลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามทางป่าชายเลนและชายฝั่ง จำนวน 104 ครั้ง และมีการดำเนินคดีไปแล้ว 75 คดี นอกจากนี้ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนภารกิจของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า มีการนำรถปฏิบัติการอากาศยานไร้คนขับ UAV Mobile operation เพื่อเป็นหน่วยบัญชาการเคลื่อนที่พร้อมทั้งอุปกรณ์ภาคสนาม รวมถึงเทคโนโลยีเพื่อช่วยในด้านการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ศึกษา วิจัย ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย สำหรับพื้นที่คุ้มครองทางทะเลมีเป้าหมายการใช้ปฏิบัติงานใน 10 พื้นที่ ได้แก่ หมู่เกาะมัน จังหวัดระยอง เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี หมู่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช หมู่เกาะไข่ จังหวัดพังงา ชายฝั่งจังหวัดตรัง พื้นที่คุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก อ่าวไทยตอนบนจังหวัดสมุทรสาคร เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี และหมู่เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต
"อธิบดีกรมทะเล" กล่าวต่อว่า ในส่วนของ ทช. มีสวัสดิการในการช่วยเหลือ และการสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล ซึ่งเป็นทั้งผู้ที่เสียสละ ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ กรมฯ ได้จัดตั้ง "กองทุนสวัสดิการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" และได้รับการสนับสนุนจาก"มูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล" เพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ฯ และครอบครัว โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ทางกรม ทช. ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติงานด้านการป้องกันรักษาป่าและทะเล จำนวน 5 ราย เป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จำนวน 2 ราย เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทะเล จำนวน 2 ราย และบุคคลภายนอกที่ช่วยเหลือการกิจกรมฯ จำนวน 1 ราย รวมวงเงิน 150,000 บาท เพื่อเป็น"ขวัญกำลังใจ" แก่...ผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล สุดท้ายนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ขอเชิญชวนประชาชน ชุมชนชายฝั่ง และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้ร่วมกันปกป้อง คุ้มครอง ดูแล พิทักษ์ รักษาทรัพยากรทางทางทะเลและชายฝั่ง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดไป ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทะเลชายฝั่งป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายากได้ตลอดที่ สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362