ยิ่งใกล้วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ (7 ส.ค.67) จะวินิจฉัยยุบพรรค “ก้าวไกล” ก็มีความเคลื่อนไหวทั้งวงในและวงนอก

วงนอกคือ กกต.สั่งโละทิ้งที่ปรึกษาด้านกฎหมายทั้งชุดอย่างหนึ่งก็เพราะมีข้อกล่าวหาว่า ยื่นคำร้องยุบก้าวไกลผิดขั้นตอนจนทำให้ถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการต่อสู้คดี

อีกส่วนก็เพราะมีบางท่านไปมีตำแหน่งใหญ่ที่วุฒิสภา

ความจริงก็ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่น่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมมากกว่า

วงในก็เป็นเรื่องของ “ก้าวไกล” โดยตรงหลังจากที่ดำเนินการต่อสู้คดีทุกรูปแบบอย่างกระตือรือร้น จนสร้างความมั่นใจระดับหนึ่งว่าจะไม่ถูกยุบ

และเปิดยุทธการปลุกขวัญเพิ่มกำลังใจให้ลูกพรรคว่าไม่ต้องห่วงกังวล ไม่ว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ถูกยุบ

ก็พร้อมที่จะต่อสู้ต่อไปด้วยอุดมการณ์ที่มั่นคง

แน่นอนว่าอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมการรองรับ หากถูกยุบก็คือการหาพรรคใหม่ให้ลูกพรรคมีสังกัดซึ่งก็คงมีแล้ว

อีกส่วนหนึ่งก็คือการหาตัวบุคคลขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อนำทัพสู้ต่อไป แทนบุคคลที่จะต้องถูกเว้นวรรคการเมือง

คงไม่ต่างไปจาก “อนาคตใหม่” ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้

นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ของผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน!

หลังจากชุด “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”-“ปิยบุตร แสงกนกกุล” ที่ต้องถูกเว้นวรรคการเมืองก็ได้ชุดใหม่เข้ามาบริหารพรรคอย่าง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”-“ชัยธวัช ตุลาธน” เข้ามารับผิดชอบดูแลพรรคแทน ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

เพราะสามารถชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

ว่าไปแล้วการเลือกบุคคลเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคนั้นถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะต้องมีความสามารถที่จะนำพาพรรคไปสู่ความสำเร็จให้ได้

...

เท่าที่เป็นข่าวปรากฏชื่อบุคคลอยู่ 2-3 คน ดีกรีก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน

แต่ที่เปิดตัวอยู่คนหนึ่ง “ศิริกัญญา ตันสกุล” ซึ่งรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ จนมีชื่อเสียงโด่งดังจนถูกวางตัวให้เป็นรัฐมนตรีคลัง

ประกาศพร้อมเป็นหัวหน้าพรรคหากได้รับการเสนอชื่อ

ว่าไปแล้วการเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนก็คงไม่ต่างกัน คือผู้บริหารหลังม่านจะเป็นผู้กำหนดแล้วให้คณะกรรมการพรรคลงมติ

ก็จะได้คนนั้นแหละ...

มีผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองชี้แนะว่า หากต้องการชนะเลือกตั้งและครองใจประชาชนได้มากกว่าปัจจุบัน การตั้งบุคคลที่ไม่เข้มในเรื่องอุดมการณ์จนกลายเป็นสัญลักษณ์ น่าจะเป็นคุณมากกว่าเพราะจะไม่มีภาพอย่าง “ธนาธร-ปิยบุตร”

ทำให้ลดแรงเสียดทานไปได้มาก

ทั้งนี้ก็ต้องมีความสามารถที่จะนำพาพรรคใหม่ให้ได้รับการยอมรับเพราะคู่แข่งทางการเมืองคงไม่ใช่มีแค่ “เพื่อไทย” เท่านั้น

ยังมี “ภูมิใจไทย” อีกพรรคหนึ่ง

ที่สำคัญ “ทักษิณ” ดูจะมีความมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้งเพราะประกาศไปแล้วว่าปัญหาของประเทศนี้ “เพื่อไทย” เท่านั้นที่จะแก้ได้

ประเด็นสำคัญก็คือ...

ทำยังไงลูกพรรคอย่าแตกแถวไปสู่พรรคใหม่เต็มที่ก็แล้วกัน!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม