คำกล่าวที่ว่า “บกพร่องโดยสุจริต” กลับมาเป็นพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์อีกครั้ง มีรายงานข่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เตรียมยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ถูกอดีต 40 สว. ยื่นคำร้องต่อศาลให้วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง กรณีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี

นั่งก็คือการเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีแถลงปิดว่า เป็นการทูลเกล้าฯที่ถูกต้องตามขั้นตอน ตามแนวทางปฏิบัติของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อ “ทั้งหมดกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” ไม่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

แต่นายสมชาย แสวงการ อดีต สว.ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร้อง ชี้แจงว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ ม.160 (4) และ (5) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และการไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่นายกรัฐมนตรีกลับหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ม.160 (6) และ (7)

บุคคลอาจกระทำ “บกพร่องโดย สุจริต” ได้ และอาจได้รับอภัยเมื่อยอมรับว่าบกพร่องโดยสุจริต แต่จะต้องไม่ใช่ข้ออ้าง เพื่อให้ตนทำผิดได้ โดยไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย แต่เป็นข้ออ้างเพื่อให้ตนอยู่เหนือกฎหมาย ที่นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจ ชอบกล่าวอ้าง ทำให้คนบางกลุ่มอยู่เหนือกฎหมาย “คุกมีไว้ขังคนจน”

ประเทศที่เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชน ผู้ที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยหรือมีอำนาจบารมีทำผิดกฎหมายโดยไม่ต้องรับผิด ไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยมี “เสาหลัก” สำคัญหลายอย่าง เช่นผู้ปกครองต้องเข้าสู่อำนาจด้วยความยินยอมของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งต้องยึดหลักนิติธรรม และระบบตรวจสอบถ่วงดุล

...

รัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุกฉบับ ที่เขียนโดยนักประชาธิปไตย จะต้องมีบทบัญญัติที่ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังต้องยึด “ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล” อำนาจ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นคืออำนาจนิยมหรือเผด็จการ

ตามหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเสาหลัก สำคัญ ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องยึดหลัก “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจ หรือเป็นประชาชน ธรรมดาไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นนักการ เมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นจะไม่เรียกว่าประชาธิปไตย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม