“เศรษฐา” สั่งตั้ง คกก.ปราบอาชญากรรมทางไซเบอร์ไม่ให้กระทบประชาชน กำชับเร่งปราบปรามยาเสพติด เผย ครม. เห็นชอบโครงการผลิตพยาบาลเพิ่ม ปีการศึกษา 2566-2570 งบประมาณ 7,000 ล้าน แก้ปัญหาขาดแคลน
วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงหนึ่งว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตั้งคณะกรรมการในการปราบอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ไปประชุมที่ ตร. แล้วเขาขอความช่วยเหลือมาว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ และไม่ใช่ ตร. อย่างเดียวที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังมีกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะต้องประสานกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีปัญหา จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขอย่างบูรณาการเกิดขึ้น
ส่วนเรื่องยาเสพติด นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ตร. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการและป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปตามเป้าหมาย 3 เดือน ใน 25 จังหวัดเป้าหมาย และเตรียมการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึงพิจารณาการให้รางวัลนำจับกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการสำเร็จตามเป้าหมายอย่างเหมาะสมและรวดเร็วด้วย
ทั้งนี้ ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการการติดตามเร่งรัด การบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ช่วงเช้าที่ผ่านมา หลายจังหวัดทำได้เกินเป้าหมาย หลายจังหวัดทำต่ำกว่าเป้าหมาย โดยพูดคุยกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ไปกำชับจังหวัดไหนที่ทำได้ต่ำกว่าเป้าให้เร่งดำเนินการ รวมถึงต้องให้มีงบประมาณและยุทโธปกรณ์ที่เพียงพอให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลตัวเองในการดำเนินการจับกุม เพราะความเสี่ยงชีวิตของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญ
...
นายกรัฐมนตรี เผยต่อไปว่า ครม. ยังได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอโครงการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2566-2570 เพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพ ระดับปริญญาตรี ให้เพียงพอรองรับการขยายศักยภาพด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายผลิตพยาบาลเพิ่มเกือบ 16,000 อัตรา กรอบวงเงิน 7,000 ล้านบาท เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องการขาดแคลนบุคลากรด้านพยาบาล ไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่เป็นกันทั่วโลก ซึ่งบุคลากรพยาบาลของเรามีน้อย และยังถูกดึงตัวออกจากระบบราชการไปยังเอกชน และมีการดึงตัวไปต่างประเทศ ทั้งนี้ จากสภาวะสังคมสูงวัยพยาบาลมีความต้องการสูง ต้องขอบคุณกระทรวง อว. ที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้
ทางด้าน นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมถึงมติ ครม. ให้ความเห็นชอบการดำเนินโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566-2570) และการจัดสรรงบประมาณในการผลิตพยาบาลเพิ่มโดยมีอัตราค่าใช้จ่ายเป็นงบดำเนินการในการผลิตบัณฑิตในอัตรา 110,000 บาทต่อคนต่อปี หรือ 440,000 บาทต่อคนต่อหลักสูตร รวมวงเงินทั้งสิ้น จำนวน 7,033.40 ล้านบาท ตามที่กระทรวง อว. เสนอ
โดยปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนพยาบาลยังคงความรุนแรง และส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาให้ประชาชนมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศทุกด้าน จากข้อมูลล่าสุดในปี 2566 ประเทศไทยมีอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรในภาพรวมเท่ากับ 1 : 365 ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกเท่ากับ 1 : 270 สภาการพยาบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดทำโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรฯ ปีการศึกษา 2566-2570 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการขยายระยะเวลาฯ ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2561-2562 รวมทั้งสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปกำลังคน และภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
สำหรับการดำเนินงานโครงการเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2566-2570) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 15,985 คน ให้สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศในทุกภาคส่วน และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาล โดยมีเป้าหมายอัตราส่วนพยาบาลต่อประชากรเท่ากับ 1 : 326 ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในปี 2574 (อัตราส่วนปัจจุบัน ณ ปี 2566 เท่ากับ 1 : 365) และการจัดสรรงบประมาณในการผลิตพยาบาลเพิ่มในอัตรา 110,000 บาท/คน/ปี หรือ 440,000 บาท/คน/หลักสูตร อัตราเดิมที่ ครม. ได้เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 รวมวงเงินทั้งสิ้นจำนวน 7,033.40 ล้านบาท เพื่อผลิตบัณฑิต จำนวน 15,985 คน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 เห็นชอบโครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2561-2565 เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561-2562) โดยสรุปแผนจำนวนการผลิตพยาบาลเพิ่มและงบประมาณดำเนินการจำแนกตามสังกัดสถาบันการศึกษา ดังนี้
ผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่ม 15,985 คน งบประมาณ 7,033.40 ล้านบาท
- สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม 8,145 คน งบประมาณ 3,583.80 ล้านบาท
- สังกัดกรุงเทพมหานคร (คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช) พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม 500 คน งบประมาณ 220 ล้านบาท
- สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สถาบันพระบรมราชชนก) พยาบาลวิชาชีพที่จะผลิตเพิ่ม 7,340 คนงบประมาณ 3,229.60 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เห็นชอบโครงการดังกล่าวด้วยแล้ว และหน่วยงานมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น กระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรนำผลการติดตามและประเมินผลโครงการดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาการผลิตพยาบาลให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพอย่างเป็นระบบ รวมถึงควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานในการรักษาบุคลากรพยาบาลวิชาชีพ และสร้างแรงจูงใจให้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐอย่างต่อเนื่อง.