“นายกฯ เศรษฐา” เปิดตัวโครงการ 72 หาดไทย เฉลิมพระเกียรติฯ และภูเก็ต Sandbox เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา มุ่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รักษาสมดุลทางทะเล เพิ่มความสมบูรณ์ให้สิ่งแวดล้อม 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เมื่อเวลา 09.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมงานเปิดตัวโครงการรักษ์ 72 หาดไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และโครงการ Phuket Sandbox ต้นแบบอนุรักษ์หาดไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงสร้างความตระหนักด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน อันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน รวมถึงรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) ตลอดจนส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Packaging) ในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง

...

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ คิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท นับเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสูงมาก และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดโครงการรักษ์ 72 หาดไทย เฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น เพื่อรักษาความสะอาดและความสวยงามของชายหาด ที่จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้มาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยเพิ่มมากขึ้น โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานการดำเนินโครงการดังกล่าว 

โดยมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายจังหวัดชายฝั่งทะเล 7 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ตรัง กระบี่ และภูเก็ต ตลอดจนนำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการจัดทำมาตรการดำเนินงาน ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ 

  • มาตรการที่ 1 ส่งเสริมการผลิตและขายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • มาตรการที่ 2 รณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • มาตรการที่ 3 การจัดการขยะอย่างถูกหลักวิชาการ
  • มาตรการที่ 4 เก็บขยะตกค้างบริเวณชายหาดและในทะเล 

สำหรับเป้าหมายของการดำเนินโครงการ คือ การยกเลิกการผลิต/ขายพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ชนิด ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าร้อยละ 80 จำนวนผู้ประกอบการท่องเที่ยวใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 80 ตลอดทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นในการเก็บรวบรวมและคัดแยกขยะ และมีระบบการจัดการเก็บรวบรวมและคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกหลักวิชาการ และมีระบบป้องกันการหลุดรอดของขยะจากแม่น้ำลำคลองลงสู่ทะเล ที่สำคัญที่สุดคือไม่มีขยะตกค้างบริเวณชายหาดและในทะเล

“โครงการ Phuket Sandbox ต้นแบบอนุรักษ์หาดไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เป็นพื้นที่ต้นแบบการดำเนินงานในการลดปัญหาขยะชายหาด ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างความร่วมมือกับทั้งกลุ่มผู้ค้าบริเวณชายหาดและนักท่องเที่ยวเพื่อการจัดการขยะที่ถูกต้อง รวมถึงการส่งเสริมให้ธุรกิจที่สนับสนุนการท่องเที่ยวบริเวณชายหาดมีการดำเนินการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะขยายผลไปยังชายหาดอื่นๆ ให้ครบ เพื่อร่วมเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ มีเป้าหมายในการยกเลิกการผลิตขายพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ชนิด ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าร้อยละ 50 จำนวนผู้ประกอบการท่องเที่ยวใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 50 ตลอดทั้งมีระบบการจัดการเก็บรวบรวมและคัดแยกขยะพลาสติก ระบบป้องกันการหลุดรอดขยะจากแม่น้ำ ลำคลองลงสู่ทะเล” 

อย่างไรก็ตาม โครงการรักษ์ 72 หาดไทย เฉลิมพระเกียรติฯ และโครงการภูเก็ต Sandbox จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ทางทะเลของประเทศไทย เพราะความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ทุกภาคส่วนต่างร่วมแรงร่วมใจกันอนุรักษ์และฟื้นฟู จะยังคงความสมบูรณ์และยั่งยืน ครอบคลุมในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่องต่อไป.