"กมธ.เกษตรฯ สภาฯ" แนะ 7 ข้อ แก้ปม "ปลาหมอคางดำ" ชงร่วมมือ "ดีเอสไอ" สอบเอาผิดและดำเนินคดี ต้นตอการแพร่ระบาด พร้อมทั้งเร่งแก้กฎหมายเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการป้องกันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แถลงหลังการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและการประกอบอาชีพของชาวประมงร่วมกับ ผู้แทนอธิบดีกรมประมง, ผู้แทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, ผู้แทนสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย, ผู้แทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และผู้แทนกรรมการประมงประจังหวัดจันทบุรี

โดยนายศักดินัย กล่าวว่า กมธ.มีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ดังนี้ 1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขับเคลื่อนและผลักดันให้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติโดยเร็ว 2. กมธ.เห็นว่า การกำจัดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ต้องมีแผนการการดำเนินงานเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลาของการกำจัด และแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกัน พร้อมทั้งอาจต้องมีการผ่อนผันให้ใช้เครื่องมือประมงบางประเภท ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้อย่างหมดสิ้นแท้จริง โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ที่ขาดแคลนเครื่องมือประมงกำจัดปลาหมอคางดำ 3. กมธ.เห็นว่า มาตรการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนด้วยการรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 15 บาท จำนวน 2 เดือน สามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีศึกษาภาพแปรรูปปลาหมอคางน้ำเพื่อช่วยรัฐบาลรับซื้อ

...

"4.กระทรวงเกษตรฯ ต้องประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และสืบหาข้อเท็จจริงเอาผิดและดำเนินคดีกับผู้ที่เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำโดยเร็ว 5.กรมประมง ต้องเร่งหาจุดรับซื้อในจังหวัดที่ยังไม่มีจุดรับซื้อ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลของจังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตกันชน เช่น จังหวัดจันทบุรี เพื่อลดการแพร่ระบาดลงสู่ทะเล

6.กรมประมง ต้องเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง โดยเฉพาะมาตรา 65 ประกอบมาตรา 144 เพื่อใช้กฎหมายเป็นกลไกในการป้องกัน ควบคุมที่มีประสิทธิภาพไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต และที่สำคัญจำเป็นต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งการแพร่ระบาด ตลอดจนความรับผิดชอบด้านการชดเชยความเสียหายและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น

และ 7.กรมประมง ต้องควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว และต้องป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่พบมีการแพร่ระบาด ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับองค์กรในท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน และ อสม." ประธาน กมธ.การเกษตรฯ สภาฯ กล่าว