ที่ปรึกษา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา โต้ ไม่ได้ประวิงเวลาจัด แข่งขัน AIMAG ยัน "เสริมศักดิ์" รมว.ท่องเที่ยวฯ ให้ความสำคัญ แต่กังวลงบประมาณ-ความโปร่งใส จ่อ มอบนโยบายให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานะการเงิน

วันที่ 24 ก.ค. 2567 นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในเรื่องการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน AIMAG ที่กรุงเทพฯ และชลบุรี โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมและงบประมาณในการจัดการแข่งขัน ว่า นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและการพัฒนากีฬาทั้งระบบ รวมถึงการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ โดยในปีนี้ ระหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2567 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 ซึ่งได้มีการเก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬาไปแล้วตั้งแต่ ตุลาคม ปี 2563 ต่อเนื่องกันจนกระทั้งในเดือนกรกฎาคม ปี 2567 โดยใช้งบประมาณเฉพาะในส่วนที่มีการเก็บตัวฝึกซ้อมกว่า 754,548,129 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินนี้ยังไม่รวมค่าจัดการแข่งขันและเงินรางวัล รวมถึงต้องเตรียมที่จะใช้เงินในการจัดการแข่งขันอีกกว่า 1,100 ล้านบาท ที่ต้องใช้เงินจากกองทุนพัฒนากีฬาฯ ซึ่งหากรวมกันแล้วต้องใช้เงินจัดการแข่งขันดังกล่าวกว่า 2,000 ล้านบาท และบางรายการจะต้องจัดหาโรงแรม 5 ดาว ถึง 300 ห้อง ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงมีนโยบายถึงผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และรองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในส่วนที่รับผิดชอบ ขอให้ดูว่า สามารถปรับลดงบประมาณในส่วนการจัดการแข่งขันลงได้บ้างหรือไม่ ด้วยเหตุผลสำคัญๆ อยู่อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

1. เนื่องจากเงินดังกล่าวต้องใช้เงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ โดยสถานะเงินกองทุนวันนี้ หากต้องใช้เงินอีก 1,100 ล้านบาท ในการสนับสนุนการจัดการแข่งขัน AIMAG จะทำให้สภาวะเงินกองทุนไม่มีสภาพคล่องและส่งผลกระทบต่อแผนงานกีฬาในปี 2568 ได้

...

2. เนื่องจากการเลื่อนการจัดการ AIMAG ครั้งที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ประชุมสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย ขอเลื่อนเองโดยให้เหตุผลว่า มีชาติสมาชิกต่างๆ ต้องการเวลาในการเตรียมทีมนักกีฬาที่จะไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 26 กรกฎาคม และเมื่อเสร็จการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก อีกภายใน 2 เดือน ก็จะเกิดการแข่งขันกีฬา AIMAG ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกันที่คนจะให้ความสนใจลดลงหรือไม่ รวมถึงบางชนิดกีฬาที่ซ้ำซ้อนกับชนิดกีฬาที่แข่งขันในโอลิมปิกอาจไม่มีความพร้อมของนักกีฬาในการส่งเข้าร่วมการแข่งขัน

3. เนื่องจากฝ่ายแผนงานและงบประมาณเคยปรับลดงบประมาณลงแล้วในส่วนเฉพาะค่าจัดการแข่งขันแต่ยังไม่รวมค่าเก็บตัวฝึกซ้อม จาก 1,700 ล้าน ลงมาเป็น 1,300 ล้านบาท ซึ่งท่านรัฐมนตรีมีนโยบายขอความร่วมมือให้ไปทบทวนว่าสามารถปรับลดลงได้อีกหรือไม่ แต่จนถึงวันนี้ก็มีความพยายามที่จะไม่ปรับลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ

4. ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่เรียบร้อยและยังไม่เป็นไปตามหลักการเทียบเคียงของกฎหมายและระเบียบ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่เป็นกฎหมายกลาง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และปราศจากการทุจริต

"จึงเรียนว่าไม่มีการประวิงเวลา หรือเหตุผลอื่นใดเลยที่จะต้องชะลอการแข่งขัน ซึ่งท่านรัฐมนตรีมีความกังวลอยู่เรื่องเดียวคือความคุ้มค่าของงบประมาณในการจัดการแข่งขัน และเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เกิดการทุจริต ดังนั้นพร้อมเดินหน้าประชุมคณะกรรมการจัดการแข่งขันเพื่อมอบนโยบายต่างๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเหตุการณ์ของสถานะการเงินของกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ต่อไป" ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวทิ้งท้าย