“ไชยา” ไม่เห็นด้วยโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ชี้ เกาไม่ถูกที่คัน สร้างภาระให้เกษตรกร ต้องหาเงินสดมาจ่ายค่าปุ๋ยก่อน ขอรัฐบาลทบทวน แนะ จัดตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ พร้อมจับตาเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่

 

วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นายไชยา พรหมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ สส.อีสานในหลายจังหวัด ตลอดจนเสียงสะท้อนจากพี่น้องเกษตรกร พบว่า เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาในภาคอีสานส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่งของรัฐบาล ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสียงสะท้อนที่ได้รับมาแสดงให้เห็นถึงความกังวลในหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น เกษตรกรต้องการให้คงไว้โครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท เพราะมีความคล่องตัวมากกว่าโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง

นายไชยา ระบุต่อไปว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ถือเป็นการมัดมือชกเกษตรกร อีกทั้งยังมีข้อกังวลในเรื่องของคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่ได้รับว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะมาจากที่กรมการข้าวเป็นผู้คัดเลือกปุ๋ย และเอกชนผู้ขายที่ร่วมโครงการไม่กี่เจ้าได้ประโยชน์ เปรียบเสมือนการยัดเยียดและมัดมือชกเกษตรกรเป็นการซ้ำเติมชาวนาหรือไม่ ตนในฐานะ สส. ตัวแทนของประชาชน ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตเกษตรกรมาตลอด โดยเฉพาะภาคอีสาน และเคยทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่าโครงการนี้ได้รับการต่อต้านจากเกษตกรทั่วประเทศ ไม่เหมือนกับโครงการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ที่ได้รับเงินโดยตรง และสามารถนำไปใช้ลดต้นทุนการผลิตอื่นๆ ทั้งค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ทุกอย่างครบวงจร 

...

“ต้องไม่ลืมว่า การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญ เช่น ระบบชลประทาน การวิเคราะห์ดิน กลไกตลาด การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น หากต้องการเห็นผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยสูงขึ้น รัฐบาลควรลงทุนการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานอย่างเป็นระบบด้วย ดังนั้น ทางเลือกของชาวนาที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตยังมีวิธีอื่นอีกมากมาย โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง กลับสร้างภาระให้ชาวนาต้องหาเงินสดมาจ่ายค่าปุ๋ยในส่วนของตนเองก่อน เปรียบเสมือนการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน และสร้างภาระให้เกษตรกรอีกด้วย”

พร้อมกันนี้ ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ถึงแม้โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกร รัฐบาลยังมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เช่น การจัดตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกร้องกันมาเป็นเวลานาน อีกทั้งมีข้อสังเกตว่า โครงการนี้มีลับลวงพราง มีนายทุนที่ได้ประโยชน์กับโครงการนี้อยู่เบื้องหลัง และพยายามผลักดันให้กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว ให้ยอมรับสูตรปุ๋ยอยู่ไม่กี่สูตร ซึ่งจะเป็นการผูกขาดอยู่ไม่กี่รายที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ จึงต้องจับตามองต่อไปว่ามีผู้ประกอบการรายใดผ่านการคัดเลือก และมีการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวด้วยหรือไม่.