สถานการณ์ประเทศไทยเดินอยู่บนปากเหว
อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ คิดแล้วหวาดเสียวจริงๆ
เป็นมุมคิดของ นายมานะ มหาสุวีระชัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้ที่เคยโลดแล่นบนถนนเส้นการเมือง ถูกจีบให้เป็น รมว.คมนาคมตั้งแต่อายุ 38 ปี แต่ตอบปฏิเสธไป
ขอเอาความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และประสบการณ์หัวหน้าทีมพัฒนาคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำหรับ Non-Linear Structures สถาบันควบคุมนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ไปช่วยในตำแหน่งการเมืองอื่นๆถึงเหมาะสมกว่า
วันนี้กลับมาสู่วงการเมืองอีกครั้ง หลังหายจากร้างเวทีไปประมาณ 20 ปี ชอบเอกซเรย์ทุกเรื่องโดยยึดหลัก “เหตุ-ผล” เป็นรากแก้วของศาสตร์ทุกแขนง ซึ่งมันคือศาสตร์เดียวกันนั่นเอง
โดยเฉพาะ “ก๊วนวิศวกรนอกคอก” มักส่องทุกปัญหาตามหลักวิศวกรรมโครงสร้าง อย่างรถไฟฟ้าบางสาย ชายตามองปั๊บ โป๊ะแตกทันทีมีส่วนต่างนับหมื่นล้านบาท แต่กลไกตรวจสอบทำได้แค่มองตาปริบๆ
...
หรือกรณีเกิดปัญหาขึ้นกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ทำไมบริษัทอื่นๆอีกหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพฤติการณ์เดียวกัน ไม่ถูกเล่นงานตามกฎหมายบ้าง จับแต่ละประเด็นๆ เป็นขยะเน่าซุกอยู่ใต้พรม รอผู้นำที่กล้าและมีเทคโนโลยีที่ใช้ นำมาใช้เป็นเครื่องมือพลิกฟื้นประเทศไทย
ยังไม่นับรวมรัฐธรรมนูญที่รอวันเวลาออกแบบโครงสร้างใหม่ให้สมดุล และเชื่อมโยง เพื่อขับเคลื่อนบ้านเมือง ยังมีอีกสารพัดปัญหาที่รอการแก้ไข
โดยเฉพาะปัญหาบ้านเมืองที่สำคัญสุด คือ “ผู้มีอำนาจไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือถ้ารู้ก็รู้ไม่จริง ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่เพียงพอ ทำสิ่งดีๆให้บ้านเมือง แต่ดันทะลึ่งมีอำนาจ แถมมีผลประโยชน์” แค่นี้ก็พอชี้ให้เห็นว่าประเทศเดินอยู่บนปากเหว
ถึงเวลาทุกฝ่ายพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึง สว.200 คนป้ายแดง
รัฐบาลเพื่อไทย–นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ
และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดย นายมานะ บอกว่าควรเริ่มจาก สว.200 คน ที่ถูกสังคมตั้งข้อสังเกตเป็นจุดอ่อนไหวทางการเมือง ในภาพรวม สว.ส่วนใหญ่ไม่เคยข้องแวะกับวงการเมือง ค่อนข้างใหม่ในวงการ และมีข้อครหา สว.สายสีน้ำเงิน ดูแล้วคงปฏิเสธยาก เมื่อดูจากผลคะแนนที่มาที่ไปในแต่ละสาย
เป็นจุดอ่อนไหวว่าสีน้ำเงินครอบวุฒิสภา
“มันอาจเป็นเพียงช่วงต้นๆเท่านั้น เชื่อมั่น สว.ที่เป็นผู้แทนปวงชน พอปฏิบัติหน้าที่ไปสักพัก หลายท่านคงไม่ถูกครอบง่ายๆ ตามที่สังคมปักใจเชื่อ
แม้สังคมตราหน้าพวกนักการเมืองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันก็จริง แต่มีหลายคนที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่าเหมาเข่ง มันเจ็บปวด ขอให้ดูเป็นคนๆ
โดยเฉพาะ สว.ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นชนชั้นนำในสังคม มาจากชาวบ้านธรรมดา ถึงเวลารับรองลุกขึ้นมาทำหน้าที่ที่ดีได้ เปรียบเหมือนระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาจะพิสูจน์ สว.ชุดนี้”
ด่านแรกที่พิสูจน์ สว. คือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 67 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ประเด็นนี้ดูๆพรรคร่วมรัฐบาลบางครั้งเขาไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมถ้าไม่ถึงคอขาดบาดตาย แต่เมื่อถึงมือวุฒิสภา เชื่อว่า สว.ทุกสายต้องพิสูจน์ตัวเอง พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ชำแหละงบตั้งแต่วาระแรก
โดยต้องทบทวนความทรงจำนายเศรษฐาที่หาเสียงครั้งแรก คือ 1.แจกเงิน 1 หมื่นบาท 2.ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หมายความว่า แจกเงินผ่านระบบการเงินแบบใหม่ที่เป็นหัวหอกสำคัญทำอะไรต่อได้อีกเยอะแยะ
พูดไปพูดมาออกป่าลงทะเล พูดถึงเฉพาะแจกเงินยังกลับไปกลับมา เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่มาของงบประมาณตลอดเวลา ดีเลย์เป็นเรือเกลือ จึงไม่เห็นด้วยที่แจกเงินเยอะไปตั้งแต่ต้น ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเยอะอย่างที่พูด
ส่วนระบบการเงินใหม่เป็นเรื่องใหญ่กว่าการแจกเงินเยอะมาก ผมเคยไปพูดบนเวที “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นโอกาสหรือหายนะประเทศ” ก็ย้ำเป็นประเด็นใหญ่นี้
รัฐบาลกลับตัดฉับทิ้งไป ทั้งที่เทคโนโลยีตัวนี้ ประเทศมหาอำนาจทำกันอยู่ ยังทำไม่สำเร็จ ขอให้คนมีอำนาจ และรัฐบาลโปรดฟัง ระบบการเงินมีกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) เกี่ยวข้อง วันนี้ 2 องค์กรใหญ่พูดคนละภาษา ต่างท่องคาถาเปลี่ยน “โครงสร้างทางเศรษฐกิจ” มาตลอด แต่ไม่มีเทคโนโลยีใหม่
โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเป็นเครื่องมือฟื้นประเทศ
มันไม่ใช่แค่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ใช่รัฐกิจแบบเอสโตเนียที่เป็นรัฐบาลดิจิทัล แค่ใช้บริหาร ภาครัฐ ไม่ใช่ภาครัฐ ภาคเอกชนทำแพลตฟอร์มผุดเป็นดอกเห็ด มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตัวเอง ทั้งลงทุนซ้ำซ้อน ราคาแพง ไม่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญเชื่อมต่อกันไม่ได้ สุดท้ายประชาชนแบกรับภาระทางอ้อมที่ไม่รู้ตัว
ถ้ารัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ สังคม เข้าใจแล้วกดดันให้ผู้มีอำนาจลงทุน โดยใช้ซอฟต์แวร์ “อินเตอร์เน็ต ออฟแอสเซท-บล็อกเชนสาธารณะ” สามารถทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มเดียวกัน
คล้ายยานแม่เชื่อม “รากแก้ว-เอกชน-ภาครัฐ-โลกใบนี้” เข้าด้วยกัน ทุกแพลตฟอร์มเสียบปลั๊กได้ รวมถึงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซุปเปอร์เมกะโปรเจกต์นี้ลงทุนไม่มาก เพราะสตาร์ตอัพไทยต้องการฝากรอยเท้าไว้บนแผ่นดิน
ฉะนั้นรัฐบาลควรกลับไปตั้งหลักใหม่ เชิญวงการเทคโนโลยีทั่วโลกเปิดประกวด โดยห้ามล็อกสเปก กำหนดทีโออาร์ที่อยากได้ระบบการเงินแบบใหม่ เป็นการตีปี๊บให้ประเทศไทยดังกระฉ่อนโลกไปในตัว
หากไทยทำสำเร็จ รับรองผู้นำของประเทศมหาอำนาจเจอนายกฯ ไทยกระโดดอุ้มเลย และรัฐบาลไม่ต้องวิ่งไปหาบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านเทคโนโลยี ทุกค่ายวิ่งมาหาเราหมดในจังหวะที่ซุปเปอร์เมกะโปรเจกต์นี้สำเร็จ ไทยดีดตัวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม
ของแบบนี้ไม่มีใครเสียหน้า ไม่มีใครเสียหาย
ทำให้มันใหญ่ขึ้น ดีขึ้น ประชาชนก็ไชโยโห่ร้องสรรเสริญ ผลงานชิ้นโบแดงผูกพันรัฐบาลเพื่อไทย มีอำนาจต้องกล้าทำในเรื่องที่ควรทำ รับรองการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป แทบไม่ต้องลงพื้นที่หาเสียง ประชาชนไม่ยอมให้คุณลงจากตำแหน่งหรอก
ถึงสมกับเป็นพรรคที่มีวิสัยทัศน์ คิดใหญ่ ทำเป็น ไม่เช่นนั้นเสียมอตโต้พรรคกอบกู้เศรษฐกิจหมด กลายเป็น “คิดใหญ่ ทำไม่เป็น” มีอำนาจแล้วยังไม่ยอมรับฟังด้วย ดูท่าทีเหมือนดูแคลนสตาร์ตอัพสายพันธุ์ไทย ของแบบนี้ทำได้คือทำได้ ทำไม่ได้คือทำไม่ได้ เป็นวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้
อย่าทำเหมือนรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา มีอำนาจทำงานได้แค่รูทีน เหมือนไม่ได้ทำอะไร คิดหาเงินไปจ่ายเลือกตั้งรอบหน้า กลายเป็นวัฏจักรซื้อเสียง เข้ามาถอนทุน ประเทศย่ำอยู่กับที่
ถึงเวลารัฐบาล– นายกฯ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีบทบาทต่อรัฐบาล จะพ้นบ่วงการเมือง 22 ส.ค.นี้ ถูกมองว่าเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดเดดล็อกการเมือง นายมานะ บอกว่า เท่าที่สัมผัสนายทักษิณ ในฐานะเป็นคนเจรจาให้มาเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม มีคุณสมบัติเป็นคนเก่ง คิดไว กล้าตัดสินใจ โดยเฉพาะช่วงเป็นนายกฯ กลายเป็นซุปเปอร์นายกฯ เพราะกล้าใช้อำนาจ
เป็นผู้นำที่มี 2 วิญญาณในตัวคนเดียว คือพ่อค้า และนักการเมือง ถ้าลดวิญญาณพ่อค้าลง รักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน เมื่อหลุดบ่วงการเมือง มีอำนาจก็ต้องระวังขันทีรอบตัว เป็นตัวอันตราย ทำให้เกิดเดดล็อกการเมือง
ขอแนะนำอย่าตระเวนทัวร์นกขมิ้นอีกพันรอบก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันหมดยุคแล้ว การเมืองยุคใหม่ต้องมีนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นอาวุธที่สำคัญสร้างกระแสทางการเมืองที่ดีได้ ใช้เครื่องมือตัวนี้พลิกฟื้นประเทศไทย
เป็นจังหวะที่ดีนายทักษิณ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
พ่อค้าแค่พลิกความคิดนิดเดียว ก็เป็นรัฐบุรุษแล้ว
ไม่เดินแต้มนี้มีโอกาสเดดล็อก เจ้าตัว–ประเทศเจ๊ง.
ทีมการเมือง