ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับรายงานของสหประชาชาติ ที่ระบุว่ามีธนาคารไทยหลายแห่งทำธุรกรรมกับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อจัดซื้ออาวุธ ที่นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ถามว่า เป็นอาวุธที่ใช้เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ในสงครามกลางเมืองในพม่าที่ยืดเยื้อใช่หรือไม่

เรื่องนี้ไม่ใช่ข่าวโคมลอย แต่เป็นรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นายกรัฐมนตรีมอบให้นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ตอบกระทู้แทน สส.รังสิมันต์แถลงว่าคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ได้รับรายงานว่ามีธนาคารไทยแห่งหนึ่งทำธุรกรรมกับพม่าสูงขึ้น แต่อีกแห่งหนึ่งลดลง แต่ถือเป็นเรื่องสำคัญ

เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหาก พิจารณาข้อมูลการคว่ำบาตร ธนาคารไทย ต้องปฏิเสธธุรกรรมและยุติความสัมพันธ์กับบริษัทพม่า มีรายงานว่าในปี 2567 นี้ มีบริษัทไทย 2 แห่ง อาจเป็นนอมินีของรัฐบาลพม่า เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และมีชื่อธนาคาร 3 แห่ง ที่รัฐบาลพม่าใช้บริการแทนธนาคารที่ถูกคว่ำบาตร เพราะเอื้อรัฐบาลพม่า

สส.รังสิมันต์ถามว่ารัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร แต่เชื่อว่าหน่วยงานของรัฐจะสนองนโยบายรัฐบาลเต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลพม่าใช้ธุรกรรมการเงินของไทย เพื่อซื้ออาวุธไปสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายอย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง

มีรายงานระบุว่ารัฐบาลพม่าซื้อ อาวุธผ่านบริษัทของไทย ในปีงบประมาณ 2565 เป็นเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและเพิ่มขึ้นกว่า 100% เป็น 130 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 มีธนาคารไทย 5 แห่งเกี่ยวข้อง และรัฐบาลเคยงดออกเสียงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2564 รัฐบาลไทยมีส่วนรู้เห็นการซื้อขายอาวุธในพม่าหรือไม่

...

รัฐมนตรีต่างประเทศชี้แจงว่ารายงานฉบับนี้ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ไม่ได้ระบุว่าธนาคารของไทย ที่อ้างถึง รับรู้ธุรกรรมดังกล่าวเป็นการจัดซื้อยุทธภัณฑ์หรือมีกองทัพพม่าได้รับผลประโยชน์สุดท้าย และไม่พบว่ารัฐบาลไทยมีส่วนร่วมเกี่ยวข้อง ธปท.กับ ปปง.เคยชี้แจงหลายครั้งว่ามีมาตรฐานการเงิน ไม่สนับสนุนการซื้ออาวุธ

ฟังคำชี้แจงของทั้งสองฝ่ายแล้ว ไม่ทราบว่าจะเชื่อใครดี แต่ถ้ามีการพลั้งพลาดกระทำการดังที่ถูกกล่าวหา ทุกฝ่ายจะต้องกลับตัวกลับใจเสียใหม่ยึดมั่นในนโยบาย ไม่ส่งเสริมการเข่นฆ่า เพื่อทำลายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้เป็นที่เสื่อมภาพลักษณ์อันดีของประเทศ และอาจขัดต่อฉันทามติของอาเซียนและยูเอ็นที่ให้แก้ปัญหาโดยสันติ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม