"ชัชวาล" พรรคไทยสร้างไทย" ซัด "ดิจิทัลวอลเล็ต" กระทบแผนงานรัฐบาล ชี้ เพิ่มหนี้ชาติ ไม่สนทุกข์ชาวนา-เกษตรกรไทย ตบท้าย ฝากบทกลอนอีสาน "ข้ามหัวชาวนาไทย" 

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด และเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 เพื่อขออนุมัติงบประมาณวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท นำไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า ถนนทุกสายของรัฐบาล มุ่งตรงไปที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพียงนโยบายเดียว ขณะที่นักวิชาการชี้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะครั้งนี้เกิดจากความเหลื่อมล้ำที่สะสมมานาน ตั้งข้อสงสัยว่า นโยบายนี้เป็นสาเหตุ ที่ทำให้การทำงานของหน่วยงานกระทรวง กรม กอง ต่างๆ ที่ดูแลแก้ปัญหาให้พี่น้อง สะดุด ไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ หรือไม่ เช่น งบฯของกรมชลประทาน ที่ดูแลเรื่องน้ำในปี 2568 ถูกปรับลดลง เมื่อเทียบจากงบฯปี 2567 ทั้งที่พื้นที่เกษตรกรรมในไทยมี 150 ล้านไร่ กรมชลประทานมีอายุ 120 ปี สร้างพื้นที่รองรับระบบชลประทานได้เพียง 30 ล้านไร่ ที่เหลือกว่า 120 ล้านไร่ ถูกลอยแพ เช่นนี้อีกกี่ปีจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้พี่น้องเกษตรกรได้

...

“ล่าสุดอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตก พื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ กว่า 2 ล้านไร่ ในทุ่งกุลากำลังจะได้รับผลกระทบ เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำแต่พอน้ำผ่านไป พื้นที่ดังกล่าวก็จะกลับมาแล้งเหมือนเดิม เพราะไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ รัฐบาลยังเดินหน้าทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมากกว่าความทุกข์ร้อนเร่งด่วนของพี่น้องประชาชนที่วิกฤตกว่า หรือปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ที่เกิดโรคระบาด ทั้งการลักลอบน้ำเข้าวัวเถื่อนจนล้นตลาด ส่งออกไปขายภายนอกประเทศไม่ได้ ราคาตกต่ำย่ำแย่เกษตรกรเลี้ยงหมู ต้องทนแบกรับ ต้นทุนอาหารที่แพงมาก สวนทางราคาขายเนื้อหมูที่ดำดิ่งเหว ล่าสุดปลาหมอคางดำ เอเลี่ยนสปีชีส์ ระบาดอาละวาดกัดกินพันธุ์สัตว์น้ำในธรรมชาติทุกอย่าง ยังหาตัวคนมารับผิดชอบไม่ได้ และที่เดือดร้อนหนักสุด คือ พี่น้องชาวนาไทย ที่มีต้นทุนการผลิตสูง ปริมาณผลผลิตต่อไร่น้อยลงมาก ซ้ำร้ายราคาข้าวตกต่ำ ติดหนี้สินทับท่วมตัว ไม่เห็นผลกำไรจากการทำนา เงินช่วยเหลือในโครงการลดต้นทุนการผลิตของชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ครัวละไม่เกิน 20 ไร่ กลับถูกรัฐบาลยกเลิก โดยอ้างโครงการใหม่ คือ โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ไร่ละ 500 บาทไม่เกิน 20 ไร่ ที่ชาวนาไทยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย จึงหวังว่ารัฐบาลนี้จะทบทวนโครงการดิจิทัลฯ และหันมาช่วยเหลือปัญหาเหล่านี้แทน ผมจึงไม่เห็นด้วยกับ ร่างกฎหมายนี้ กังวลว่าจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ประชาชนจะกลายเป็นผู้แบกรับหนี้ ที่ตัวเองไม่ได้ก่อกว่า 1.2 แสนล้านบาท และขอฝากบทกลอนอีสานถึงรัฐบาล ว่า

"อันว่าเงินดิจิทัลฯ จักมันเป็นดอกแนวได๋
ข้ามหัวชาวนาไทย สิกู้เงินให้มันได้
ไทบ้านนาเขื่อนขาด ท่วมอนาถขาดนายซอย
งบประมาณถึงมีหน่อย ซอยหมู่ข่อยก่อนเป็นหยัง
รัฐบาลเอ้ย รัฐบาลเอ่ย" นายชัชวาล กล่าว