"กขค.-ITC" ร่วมจัดสัมมนานานาชาติ มุ่งพัฒนานโยบายการแข่งขันทางการค้าไทยสู่มาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยจัดขึ้นระหว่าง 15-16 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.67 ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ร่วมกับองค์การศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre: ITC) จัดงาน "TCCT Competition Policy Symposium: An Optimal Competition Policy For Thailand นโยบายการแข่งขันที่เหมาะสมต่อไทย" ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ค.2567 ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการรวมตัวทางเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน จากสหภาพยุโรปเพิ่มเติมต่อประเทศไทย (ASEAN Regional Integration Support from the EU Plus Project: ARISE Plus -Thailand) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศในการกำหนดนโยบาย และทิศทางการพัฒนาการกำกับการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีระบบการแข่งขัน ที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

...

โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก นายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ นโยบายการแข่งขันกับทิศทางการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้ง ฯพณฯ เดวิด เดลี (H.E. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ฯพณฯ ดร.แอนเจลา แมคโดนัลด์ (H.E. Dr. Angela Macdonald PSM) เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ให้เกียรติร่วมปาฐกถาพิเศษด้วย

นอกจากนี้ มีตัวแทนจากภาครัฐ อาทิ นิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรม สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์ และถอดบทเรียนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำเสนอผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า เช่น ประเด็นการกระจุกตัว การแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากต่างประเทศ เพื่อพัฒนานโยบายการแข่งขัน การปรับปรุงระบบนิเวศการแข่งขันไทยให้สอดคล้องกับกระแสโลก นโยบายการกำกับการแข่งขันทางการค้าในตลาดดิจิทัล นโยบายการกำกับการแข่งขันทางการค้า ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายการกำกับการแข่งขันทางการค้าต่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการฉายภาพรวมในอดีต ของนโยบายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย โดยนำเสนอผลงานที่สำคัญภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการออกนโยบายการกำกับดูการแข่งขันทางการค้าของไทยให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการยกระดับนโยบายการแข่งขันทางการค้าของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เตรียมพร้อมสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งในขณะนี้ไทยกำลังอยู่ในกระบวนการเข้าสู่การเป็นสมาชิกกลุ่ม สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพด้านการแข่งขันทางการค้าของไทยในสายตานานาชาติ

จากนั้น นายยรรยง ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ถึงกฎหมายการแข่งขันการค้าในปัจจุบัน ว่า ตนมองว่าโดยพื้นฐานถือว่าดีพอสมควร แต่ประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มแรก เพราะการแข่งขันทั่วโลกเข้มข้นมากขึ้น เราเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งโลกมาแข่งขันในไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็ไปทำธุรกิจในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กฎเกณฑ์การแข่งขันเสรีที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ และทำให้คนไทยสามารถก้าวไปสู่ตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงต้องจัดให้มีกติกา กลไกที่เสรีและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ

นายยรรยง กล่าวต่อว่า ในทางอ้อมจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้วย ขณะเดียวกันสร้างความเข้มแข็งให้คนไทย สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่งทาง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย นั่นคือผู้ประกอบการรายย่อยให้มีอำนาจในการแข่งขันมากขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล

ด้าน นายรักษเกชา กล่าวว่า สำหรับการจัดงานวันที่ 15-16 ก.ค.นี้ เป็นความร่วมมือของ ITC และ EU ที่สนับสนุนทางเรา โดยทางออสเตรเลียให้ความร่วมมือกับเรามาโดยตลอด รวมถึงกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยเรามุ่งหวังทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้าและนโยบายที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนากฎหมายมาโดยลำดับ จาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ปี 2542 แต่อยู่ใต้กรอบส่วนราชการส่วนใหญ่ ต่อมาได้ออก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ปี 2560 ขึ้นมา เพื่อให้มีสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่เป็นหน่วยงานอิสระเพื่อดูแลเรื่องพวกนี้โดยตรง ซึ่งองค์ประกอบการแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีกฎหมายที่ดี มีการบังคับใช้ที่ดี และมีแนวนโยบายที่เหมาะสม

นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า สำหรับหัวข้อสำคัญที่จะมีการหารือ และเปลี่ยนกันตลอด 2 วันนี้ จะเป็นเรื่องของมาตรฐานสากล เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน การกระจุกตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และเรื่องตลาดดิจิทัลที่ขณะนี้กำลังได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก โดยตั้งเป้าว่าบทสรุปจากการประชุมครั้งนี้ จะเป็นเข็มทิศนำทางให้เราทำงานสอดรับกับสถานการณ์โลก และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม

"องคาพยพต่างๆ ที่เราร่วมมือ เช่น ITC และ EU ให้การสนับสนุนเรามาโดยตลอด เพราะเขาผ่านกระบวนการพวกนี้มาหลายครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะมีองค์กรต่าง มาให้แนวคิดว่า ลักษณะต่างๆที่เป็นเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่มีมาตรฐาน ทั้งเรื่องการพัฒนาบุคลากร การแก้ไขกฎหมาย ทั้งนี้ในอนาคตอาจมีการร่วมมือกันทำ ลักษณะศูนย์วิจัยทางด้านนโยบายเศรษฐกิจ หรืออย่างที่เราพูดกันคือ Trade competition economy อาจจะเป็นวิทยาลัยทางด้านการแข่งขันทางการค้า ซึ่งต้องมีการให้คนของเราพัฒนาให้มีความพร้อมเสมอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรต่างชาติ" นายรักษเกชา กล่าว