“เศรษฐา” ติดตามสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนพร้อมรับมือ ควบคุม ป้องกัน แก้ไข ลดผลกระทบจากภัยพิบัติในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์ฤดูฝนอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลประชาชนอย่างรอบด้าน และดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงภัยพิบัติ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฤดูฝน ควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนประชาชน ซักซ้อมแผนก่อนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้น และลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมเร่งฟื้นฟูให้กลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ในระยะนี้ประเทศไทยในหลายพื้นที่มีฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังบริเวณชุมชนเมืองได้ รัฐบาลจึงขับเคลื่อนการดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรม และตรงจุดตั้งแต่ต้นเหตุ ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มอบหมายนโยบายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ณ จังหวัดระยอง โดยมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด พร้อมลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามเตรียมความพร้อม และซักซ้อมแผนเผชิญเหตุก่อนเกิดภัยพิบัติ

...

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูลและประชุมคณะทำงานอำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำมูล ณ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล จากสถานการณ์ฝนหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ติดตามการรับมือฤดูฝนในพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ บูรณาการให้หน่วยงานในพื้นที่สามารถรับมือกับพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในฤดูฝน เช่น อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม โดยทั้ง 2 ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) จะดำเนินการเพื่อติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง 

สำหรับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ทั้ง 2 ศูนย์ จะมีการดำเนินการ ทั้งการประชุมติดตามข้อมูลด้านปัจจัยสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำรายวัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์และประเมิน เพื่อจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง พร้อมประกาศแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดเพื่อบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนไปยังจังหวัด อำเภอ สื่อมวลชนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมการรับมือเผชิญเหตุตลอด 24 ชั่วโมง

“นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในช่วงฤดูฝน พร้อมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยง เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติจากฤดูฝนที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและนอกพื้นที่ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”