“รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ” ชี้ ขอตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ต้องใช้เวลานับสิบปี ต้องมีสังกัด ตรวจสอบจากมหาวิทยาลัยในประเทศ แนะ เช็กสถาบันต่างประเทศจากเว็บ ก.พ. และดูคุณสมบัติผู้เรียนควบด้วย ลั่น หากเป็นศาสตราจารย์แล้วตอบคำถามในศาสตร์ของตนเองไม่ได้ จะถูกตรวจสอบมากขึ้น

วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ถึงการได้มาสำหรับตำแหน่งทางวิชาการ หลังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง โดย อ.กุลทิพย์ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา พร้อมบอกถึงขั้นตอนในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ในประเทศไทยว่า ระยะเวลาที่ต้องใช้อย่างต่ำน่าจะนานนับ 10 ปี ผู้ที่ขอต้องจบปริญญาเอก ตำแหน่งแรกที่ได้รับคือ อาจารย์ด็อกเตอร์ (อ.ดร.) จากนั้นจึงดำเนินการตามลำดับ โดยขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ซึ่งจะต้องมีเอกสารทางวิชาการ มีเอกสารการวิจัย หรือหนังสือที่ตนเป็นผู้สอน เมื่อได้รับตำแหน่ง ผศ.แล้ว 1-2 ปี ต้องมีบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ยอมรับในสาขาอย่างน้อย 2 ฉบับ หรือหนังสือซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี จึงจะสามารถขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) ได้ และจากนั้นอีก 2 ปีอย่างต่ำจึงจะสามารถขอตำแหน่งศาสตราจารย์ (ศ.) ได้ โดยตำแหน่งทุกตำแหน่งทั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ผู้ขอจะต้องมีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นต้นสังกัด รับรอง ตรวจสอบคุณวุฒิ และยื่นขอตำแหน่งต่อกระทรวงอุดมศึกษาฯ ต่อไป หากสังกัดผู้จบการศึกษาสังกัดองค์กรธุรกิจเอกชน แม้จะจบปริญญาเอกก็ไม่สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นไปได้ โดยศาสตราจารย์จะต้องมีเอกสารแสดงความเชี่ยวชาญในสาขาที่สังกัด เช่น นิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่มีองค์ความรู้ของศาสตร์เฉพาะมากที่สุด ถือเป็นขั้นสูงสุดของทางวิชาการ และต้องได้รับโปรดเกล้าฯ อ.กุลทิพย์ กล่าวว่า ผู้ที่ขอตำแหน่งอาจจะต้องมีบทความวิจัยตีพิมพ์ในฐานวิชาการระดับชาติและนานาชาติมากกว่า 10 ฉบับ ตั้งแต่ระดับ ผศ. จนถึง ศ. อีกทั้งศาสตราจารย์มีข้อกำหนดหนึ่งที่ว่า งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลจะต้องเป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยนั้นๆ และต้องได้มาตรฐาน Scopus Q1 รวมทั้งต้องได้รับการอ้างอิง ซึ่งการจะได้มาตรฐานนี้จะต้องอาศัยการนำงานวิจัยของผู้ขอตำแหน่งไปอ้างอิงในการทำงานด้านวิชาการอื่นๆ มากพอ แม้ว่าระยะเวลา 1-2 ปี ที่ รศ. จะขอตำแหน่ง ศ.ได้ แต่ปัจจัยที่สำคัญก็ขึ้นอยู่กับการนำข้อมูลของผู้ขอไปใช้ ซึ่งอาจจะทำให้เวลายืดยาวออกไป

...


ขณะที่ ศาสตราจารย์ในต่างประเทศนั้นก็มีความยากเช่นเดียวกัน ส่วนที่นักวิชาการจะกล่าวกันว่า ในต่างประเทศเป็นผู้สอน 5-10 ปี ก็จะได้ตำแหน่งศาสตราจารย์นั้น อ.กุลทิพย์ กล่าวว่า เป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านการสอน เพราะมีแยกย่อยออกเป็น ศาสตราจารย์ด้านการสอนและวิจัย หรือศาสตราจารย์ด้านการวิจัยโดยเฉพาะ ซึ่งศาสตราจารย์ด้านการสอนก็จะมีเทคนิคในการสอนที่ดี แตกต่างจากศาสตราจารย์ด้านวิจัย ที่อาจจะสอนหรือถ่ายทอดได้ไม่ดีเท่า แต่มีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง

สำหรับการตรวจสอบมหาวิทยาลัยว่ามีมีอยู่จริง ได้รับการรับรองหรือไม่นั้น อ.กุลทิพย์ แนะนำว่า ตรวจสอบอย่างง่าย คือดูจากการรับรองในเว็บไซต์ของ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หากไม่รับรอง ก็ถือว่าคุณวุฒินั้นไม่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังตรวจสอบได้จากการแนะนำของสถานทูตประเทศนั้นๆ หรือสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่างประเทศในไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมีหลายระดับ ทั้งมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วไป หรือมหาวิทยาลัยประจำรัฐ (State University) ซึ่งผู้เรียนต้องดูคุณสมบัติของตนเองว่าจะผ่านในคณะของมหาวิทยาลัยนั้นๆ หรือไม่ 

อ.กุลทิพย์ ยังกล่าวถึงผู้ที่อยากมีตำแหน่งศาสตราจารย์ ว่า การเป็นตำแหน่งศาสตราจารย์จะต้องมีหลากหลายองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน บุคคลในสังคมก็ตั้งคำถามสูงกับคนเหล่านี้ อีกทั้งโลกปัจจุบันมีการตรวจสอบได้ง่าย หากเป็นศาสตราจารย์แล้วตอบคำถามในศาสตร์ตนเองไม่ได้ ก็จะทำให้ถูกตรวจสอบมากขึ้น  และยังเป็นตำแหน่งที่วัดกันด้วยผลงานวิชาการ หากไม่มีผลงาน เป็นศาสตราจารย์มานาน แต่ไม่มีงานวิจัยเลยก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่อะไรให้สังคม.