กมธ.ความมั่นคง เรียกชี้แจง กรณีรายงาน UN ปี 2023 เผย รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ 5 ธนาคารไทยทำธุรกรรมซื้ออาวุธทำสงครามกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านตัวแทนธนาคารยันไม่รู้ข้อมูลมาก่อน พร้อมร่วมมือ ธปท.-ปปง. ยกระดับมาตรการป้องกันในอนาคต

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เรียกตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, ธนาคารไทย 5 ธนาคาร, กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือและตอบข้อซักถาม กรณีเกี่ยวกับรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งระบุว่ามีการใช้ระบบธนาคารไทยในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการทำสงครามโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งในปีล่าสุดมีมูลค่าการทำธุรกรรมสูงถึง 120 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยที่ประชุมเริ่มต้นด้วยการสรุปเนื้อหาในรายงาน โดย นายทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้เข้าร่วมชี้แจงและตอบข้อซักถามในที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ในวันนี้ด้วยตนเอง ว่า สิ่งที่น่ากังวลคือยอดธุรกรรมโดยรัฐบาลทหารเมียนมาที่มีการทำผ่าน 5 สถาบันทางการเงินของไทยในปีล่าสุด เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า คือจาก 60 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 เป็น 120 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023 โดยการทำธุรกรรมจำนวนมากถูกใช้ไปทั้งในการสนับสนุนการซื้อเฮลิคอปเตอร์จู่โจม เครื่องบินขับไล่ และเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งอาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการปฏิบัติการที่เป็นการโจมตีเป้าหมายซึ่งเป็นพลเรือน

ทั้งนี้ ทางผู้รายงานพิเศษยังไม่พบหลักฐานที่สามารถชี้ชัดได้ว่ารัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมเหล่านี้โดยกองทัพเมียนมา และจากข้อมูลที่ผู้รายงานพิเศษได้รับจากบางธนาคาร กรณีดังกล่าวอาจเกิดมาจากการที่รัฐบาลทหารเมียนมาใช้มาตรการหลบเลี่ยงการตรวจสอบที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยตั้งบริษัทนายหน้าขึ้นมาประสานงาน ทำให้ธนาคารในประเทศไทยอาจไม่ได้ตระหนักว่าการทำธุรกรรมเหล่านั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง และประเด็นสำคัญคือปัจจุบันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ในอนาคตจะมีมาตรการป้องกันอะไรได้บ้าง 

...

ขณะเดียวกัน ผู้รายงานพิเศษมีข้อเสนอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการและรัฐบาลไทยแถลงจุดยืนที่ชัดเจน คัดค้านการให้ความสนับสนุนทางธุรกรรมในการซื้อขายอาวุธ ดังที่สิงคโปร์ได้เคยแถลงจุดยืนเรื่องนี้อย่างชัดเจนมาแล้ว จะเป็นการสะท้อนการปฏิบัติตามมติสมัชชาสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้สมาชิกทุกประเทศป้องกันการไหลเวียนของอาวุธทั้งหมดในเมียนมา และสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้ออาเซียนในกรณีเมียนมา พร้อมกับขอให้รัฐบาลไทยสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียด อาจเริ่มต้นด้วยการตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ตั้งอยู่ในไทยดังที่ปรากฏในรายงาน และขอให้ กมธ. ส่งสัญญาณถึงรัฐบาลไทยในการสืบสวนสอบสวนด้วย นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลไทยเรียกร้องไปยังธนาคารในประเทศไทย ให้ยุติการอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาทั้งหมด โดยเฉพาะต่อธนาคารที่รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้ควบคุม เพื่อการยุติและป้องกันอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา

ภายหลังจากการสรุปรายงานโดยผู้รายงานพิเศษ ได้มีสมาชิกและที่ปรึกษากรรมาธิการ รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนใจเข้าฟังการประชุม ร่วมซักถามและให้ข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงการชี้แจงจากทั้งฝ่ายธนาคาร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยหนึ่งในผู้ถามคำถามและข้อเสนอแนะคือ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ระบุว่า วัตถุประสงค์ของการประชุมในวันนี้ไม่ใช่การจี้หาคนผิด และตนเชื่อตามที่รายงานระบุว่า ธนาคารไทยไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าการทำธุรกรรมนั้นเกี่ยวกับการทำสงคราม ระบบธนาคารของไทยเพียงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการทำสงครามในประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่รู้ตัวมาก่อน

จากรายงานของผู้รายงานพิเศษต่อองค์กรสหประชาชาติในประเด็นเดียวกันที่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มีการระบุรายชื่อบริษัทที่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมาถึง 254 บริษัท ซึ่งหลายบริษัทเป็นบริษัทในประเทศสิงคโปร์ เมื่อมีการระบุรายชื่ออย่างชัดเจนออกมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้สั่งให้บริษัทเหล่านั้นทำการตรวจสอบลูกค้าของตัวเองอย่างละเอียดที่สุด จนสามารถลดธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องลงไปได้ถึง 90% จาก 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

แต่ขณะเดียวกัน ธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารเมียนมาในประเทศไทยจากรายงานปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คำถามคือ เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องจากสิงคโปร์มาประเทศไทยแทน และในทางเทคนิค ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสมาคมธนาคารไทยจะใช้รายชื่อ 254 บริษัท จากรายงานปีที่แล้วมาตรวจสอบว่าบริษัทเหล่านั้นได้กลายมาเป็นลูกค้าของธนาคารไทยแทนหรือไม่ อีกทั้งในรายงานปีนี้มีรายชื่อ 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีความสำคัญมาก คือการจัดซื้อน้ำมันสำหรับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพเมียนมา ซึ่งทั้ง 2 บริษัท เป็นบริษัทสัญชาติไทยที่จดทะเบียนในไทยทั้งคู่ และมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าทั้ง 2 บริษัทนี้ใช้บริการธนาคารของไทย 2 ธนาคาร ในการทำธุรกรรม คำถามคือทั้ง 2 ธนาคารจะมีการดำเนินการต่อทั้ง 2 บริษัทนี้อย่างไร

ประเด็นต่อมา คือเรื่องของจรรยาบรรณธุรกิจ (code of conduct) มีกรณีที่น่าสนใจคือการถอนการลงทุนทั้งหมดโดยบริษัท Total และ Chevron ออกจากเมียนมา โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีจรรยาบรรณทางธุรกิจที่ชัดเจนว่าไม่สามารถทำธุรกรรมกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ คำถามคือทุกธนาคารในประเทศไทยมีจรรยาบรรณธุรกิจที่ชัดเจนในแบบเดียวกันหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นท่านย่อมมีพันธะผูกพันกับผู้ถือหุ้นทันที ทั้งนี้ รายงานของผู้รายงานพิเศษแม้จะไม่มีผลผูกพันในทางพันธปฏิบัติกับประเทศไทย แต่มติสมัชชาสหประชาชาติที่ออกเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 มีผลต่อชาติสมาชิกทุกประเทศ ให้ทุกประเทศสมาชิกต้องไม่ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือให้เกิดการจัดซื้ออาวุธให้รัฐบาลทหารเมียนมา เช่นเดียวกับที่เราไม่อยากเห็นระบบธนาคารของเราถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนสงครามและการสังหารหมู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ไม่อยากเห็นการทูตของเราสนับสนุนการสังหารหมู่ และรัฐบาลที่กระทำการสังหารหมู่และทำสงครามในประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน จุดยืนของพวกเราตรงกันหมด

“ในรายงานแม้จะระบุว่าธนาคารและรัฐบาลไทยไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ปัญหาคือตอนนี้ท่านรู้แล้วว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น ปัญหาที่เราต้องการคือเมื่อรู้แล้วท่านทำอย่างไร สามารถจัดการอย่างที่รัฐบาลสิงคโปร์ทำในช่วงปีที่ผ่านมา อันส่งผลอย่างมากต่อความพยายามในการสร้างสันติภาพและการสังหารหมู่ในเมียนมา เราพร้อมที่จะนำแบบนั้นหรือไม่ในฐานะชาติสมาชิกของสหประชาชาติ”

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมซักถาม ทั้งตัวแทนจากฝ่ายธนาคารไทยและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมตอบข้อซักถามในหลายประเด็น โดยตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับประชาชนทุกรูปแบบ

ทางด้านตัวแทนจาก ธปท. ระบุว่า ที่ผ่านมา ธปท. กำชับให้ธนาคารดำเนินมาตรการคว่ำบาตร รวมถึงตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำธุรกรรมเกี่ยวกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาโดยตลอด พร้อมกำชับให้ต้องมีการทบทวนข้อมูลลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงทุกปี ถ้ามีธุรกรรมต้องสงสัยก็จะต้องมีการรายงานต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ยืนยันว่า ธปท. พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นฐานการสนับสนุนการฟอกเงิน พร้อมจะให้มีการสอบทานกระบวนการเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบของไทยกับสิงคโปร์มีความแตกต่างกัน ธปท. ต้องทำงานร่วมกันกับ ปปง. ในการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากนี้ไป ธปท. จะมีการหารือกับ ปปง. เพื่อยกระดับมาตรการการตรวจสอบกำกับสถาบันทางการเงินและกระบวนการนโยบายต่อไป รวมถึงการสอบทานธุรกรรมตามรายงานว่ามีความเกี่ยวพันจริงหรือไม่ ซึ่งธนาคารเองก็รับทราบในกระบวนการนี้แล้ว หากผู้รายงานพิเศษมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้การตรวจสอบธุรกรรมมีความชัดเจนขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบของธนาคารทุกแห่ง โดยผลการตรวจสอบน่าจะเห็นภายในไตรมาสที่ 3-4 ก็น่าจะระบุได้ว่ามีกระบวนการตรงไหนที่มีช่องโหว่

ขณะที่ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า สมาคมเห็นว่าข้อกล่าวหาตามรายงานดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ยืนยันได้ว่าสมาชิกสมาคมธนาคารไทยทำตามที่กระทรวงการต่างประเทศและ ธปท. ขอความร่วมมือมาโดยตลอด ในการไม่สนับสนุนการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้ออาวุธหรือองค์กรทางการทหารเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยให้ความสำคัญในการปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ประชาชน และประชาคมโลกมาโดยตลอด ยึดและปฏิบัติตามกฎหมายขององค์กรกำกับดูแล คือ ธปท. และ ปปง. อย่างใกล้ชิด มีผู้เชี่ยวชาญดูแลการกำกับดูแล ส่วนรายชื่อบริษัท 254 บริษัท ที่อยู่ในรายงานปีก่อนหน้านี้จะเอามาใช้หรือไม่ สมาคมธนาคารไทยเห็นว่าการตรวจสอบจะต้องยึดโยงกับกฎเกณฑ์หรือคำสั่งจากหน่วยงานที่กำกับดูแลก่อน เพราะทุกธนาคารต้องทำตามกฎเกณฑ์และระเบียบที่มีอยู่

ในช่วงท้าย ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทย ยังกล่าวอีกว่า ธนาคารเองโดยลำพังย่อมไม่สามารถรับรู้ถึงรายการเหล่านั้นได้ ถ้าธนาคารรู้ว่าธุรกรรมเหล่านั้นจะนำไปสู่การซื้อขายอาวุธก็ย่อมจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น แต่การรับรู้ถึงข้อมูลดังกล่าวเกินกว่าความสามารถที่ธนาคารจะรับรู้ได้ ธนาคารไม่มีฝ่ายสืบสวนเรื่องแบบนี้ แต่ถ้าในอนาคตมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาระบุว่ามีธุรกรรมลักษณะนี้ ทุกธนาคารก็พร้อมทำตามแน่นอน ซึ่งการดำเนินการต่อไปของสมาคมธนาคารไทยต้องมีการพูดคุยกับธนาคารสมาชิกก่อน รวมทั้งการปรึกษากับ ธปท. และ ปปง. ทางธนาคารก็อยากทำเพิ่มขึ้น แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าสมาคมธนาคารไทยเองต้องมีพนักพิงหลังด้วย ต้องทำเท่าที่กฎหมายกฎเกณฑ์รองรับให้ทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้ธนาคารต้องกลับมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อปิดช่องว่างที่ยังมีอยู่ต่อไป.