“ศิริกัญญา” ตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ ย้ำเศรษฐกิจซบเซา รัฐบาลอั้นงบกลาง 67 ไว้โปะดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน “นายกฯ” แจงยิบ มั่นใจ 24 ก.ค.นี้ ชัดขึ้นอีก แจงปมถือต่างชาติครองที่ดิน 99 ปี ฝ่ายต่างประเทศเรียกร้องมา

วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจซบเซา ค่าครองชีพพุ่งสูง ค่าไฟแพง ค่าน้ำมันแพง รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนอย่างไรบ้าง โดยเริ่มถามคำถามแรกถึงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า จากการแถลงของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวานนี้ (10 กรกฎาคม 2567) มีประชาชนสอบถามเข้ามามากว่าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการดังกล่าว เพราะมีส่วนที่ปรับแก้เงื่อนไขเพิ่มเติมอีกรอบ บางสินค้าที่เคยบอกว่าจะใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตซื้อได้ เช่น สมาร์ทโฟน เงื่อนไขล่าสุดก็ปรับเป็นซื้อไม่ได้แล้ว แต่ที่ประชาชนกังวลเป็นพิเศษคือการปรับลดเป้าหมายจาก 50 ล้านคนเหลือ 45 ล้านคน โดยอ้างว่าจะมีประชาชนที่มีสิทธิ์แต่ไม่มาลงทะเบียนราวร้อยละ 10 และอาจไม่ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว ทำให้จะเหลือเงินสำหรับใช้ในโครงการนี้เพียง 450,000 ล้านบาทเท่านั้น

คำถามคือตอนนี้งบประมาณมีไม่เพียงพอแล้วหรืออย่างไร ทำให้หามาได้แค่ 450,000 ล้านบาท งบประมาณจากปี 2567 จากที่เคยจะใช้ประมาณ 170,000 ล้านบาท ก็ลดเหลือเพียง 165,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะนำมาจากงบประมาณปี 2568 จำนวน 285,000 ล้านบาท คำถามที่ประชาชนสงสัยคือ สุดท้ายถ้าคนมาลงทะเบียนครบ 50 ล้านคนจะทำอย่างไร อีก 50,000 ล้านบาท จะใช้เงินจากแหล่งใด และที่น่ากังวลกว่านั้นคือ สรุปแล้วจะมีการใช้งบกลางของปี 2567 หรือไม่ จะบริหารจัดการอย่างไร หรือสุดท้ายจะมีการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ที่อยู่ในอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือไม่

...

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามแรกว่า ที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องของประเภทสินค้า เป็นตัวบ่งบอกว่ารัฐบาลฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน และมีการพูดคุยกันตลอดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ส่วนเรื่องงบประมาณ รัฐบาลได้กันงบกลางปี 2567 ไว้ 43,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้งบประมาณปี 2568 ส่วนสาเหตุที่ลดงบประมาณทั้งหมดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจาก 500,000 ล้านบาท เหลือ 450,000 ล้านบาท เพราะจากสถิติเก่าของรัฐบาลที่ผ่านมา วิเคราะห์แล้วว่าจะมีคนที่ไม่มาใช้สิทธิ์จำนวนหนึ่ง แต่รัฐบาลก็จะเตรียมงบประมาณให้เต็มที่ โดยมั่นใจว่าจะใช้การพิเคราะห์อย่างดีให้โครงการดำเนินไปอย่างตรงเป้าหมาย ถูกต้องตามกฎหมาย สุจริต และเป็นไปตามกติกาการใช้งบประมาณที่ถูกต้อง

“ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายหลัก เหตุผลที่ต้องใช้เงิน 10,000 บาทต่อคนแล้วจำกัดพื้นที่ในการใช้ เรื่องของเรื่องคือการที่จำกัดความเจริญอยู่ได้แค่หัวเมืองหลักอย่างเดียว การที่พี่น้องประชาชนมีบัตรประจำตัวประชาชนอยู่ในอำเภอไหน ก็ใช้ในอำเภอนั้น เพื่อให้เงินที่แจกไป ได้ไปใช้ในอำเภอนั้นๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดที่ยังมีการพัฒนาต่ำ ไม่ว่าจะเป็นหนองบัวลำภู บึงกาฬ หรือมหาสารคาม ซึ่งมี GPP ยังต่ำอยู่ ก็อยากให้ไปกระตุ้นตรงนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค และเป็นไปตามความต้องการของทุกๆ คน มั่นใจว่า 24 กรกฎาคม จะมีความชัดเจนมากขึ้นในแง่ของงบประมาณและประเภทสินค้าที่จะออกมา”

จากนั้น น.ส.ศิริกัญญา ถามต่อคำถามที่สองว่า ในเมื่อนายกรัฐมนตรีตอบว่าต้องใช้งบกลางปี 2567 จำนวน 43,000 ล้านบาท ข้อสงสัยของตนก็มีความกระจ่างขึ้น เพราะตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา บริหารประเทศมากว่า 10 เดือน มีข้อสังเกตว่างบกลางปี 2567 แทบไม่ได้มีการอนุมัติเลย ทั้งที่มีปัญหาประชาชนหลายเรื่องที่รอการแก้ไข ก็เพราะต้องเก็บเงินไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งประชาชนต้องรอต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และไม่รู้แน่ชัดว่าจะเป็นเดือนไหน และที่ต้องถามเรื่องงบกลางปี 2567 ก็เพราะสภาฯ อนุมัติงบกลางไป 99,000 ล้านบาท แต่กลับมีการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเพียง 14,000 ล้านบาทเศษ ที่น่ากังวลเพราะมีปัญหาเร่งด่วนกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือเรื่องค่าครองชีพของประชาชน

ก่อนที่จะอภิปรายต่อไปว่า นอกจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก โดยเฉพาะโรงงานที่ปิดกิจการไปจำนวนมาก ข้อมูลการปิดโรงงานอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยผลรวมตั้งแต่ปี 2566 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวไปแล้วเกือบ 2,000 แห่ง กระทบการจ้างงาน 50,000 ตำแหน่ง ถ้านับเฉพาะตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเข้ามารับตำแหน่ง มีโรงงานปิดไปแล้ว 1,217 แห่ง และมีโรงงานเปิดใหม่เพียง 1,264 แห่ง แถมที่ปิดไปก็เป็นโรงงานขนาดใหญ่ขณะที่โรงงานที่เปิดใหม่เป็นโรงงานขนาดเล็ก

ทั้งนี้ มีการของบกลางช่วยพยุงราคาน้ำมัน 6,500 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่อนุมัติ ทั้งที่งบกลางไม่ได้ใช้ ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่อยากอุดหนุนราคาน้ำมันด้วยการลดภาษีสรรพสามิตแบบเดิมๆ ก็อาจเลือกอุดหนุนเฉพาะกลุ่มก็ได้ เช่น ภาคขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ หรือถ้าเป็นประชาชนทั่วไปก็อาจแจกเป็นคูปองลดราคาน้ำมันลิตรละ 5 บาท ไม่เกินจำนวนหนึ่งๆ ต่อเดือน ซึ่งจะใช้เงินน้อยกว่ามาก สามารถควบคุมงบประมาณได้ แต่กลับไม่มีการออกมาตรการมาช่วยเหลือค่าครองชีพเลย 

ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง อาจมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำออกมาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่คนซึ่งกำลังเดือดร้อนที่ต้องเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น ไม่มีการออกสินเชื่อสำหรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจ ยกเครื่องเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ตนอยากถามว่า รัฐบาลมีแนวโน้มจะออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนหรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องรอโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกมาหรือไม่

นายกรัฐมนตรี ตอบในคำถามที่สอง ยืนยันว่ารัฐบาลมีการใช้งบกลางทั้งในการดูแลค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้า แก้ปัญหาการเกษตร น้ำท่วม น้ำแล้ง ถนน สถานพยาบาล และอื่นๆ ถ้าสมาชิกอยากทราบรายละเอียด ตนก็พร้อมจะนำมาแถลงอีกครั้งในการประชุมสภาฯ คราวหน้า ส่วนเรื่องเศรษฐกิจโดยภาพรวม ฝ่ายค้านกับรัฐบาลมีความเห็นต่างกันในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจขณะนี้วิกฤติหรือไม่ ต้องกระตุ้นหรือต้องเปลี่ยนโครงสร้างกันแน่ พร้อมย้ำว่า 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของประเทศไทยเติบโตต่ำ ไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้การบริโภคโตเฉลี่ยแค่ร้อยละ 3 ต่อปี การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนค่อนข้างต่ำ ส่งออกติดลบ การนำเข้าเพิ่มมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและพลังงาน

นายเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเข้ากับความต้องการของโลกสมัยใหม่ช้ากว่าที่ควรเป็น ตนจึงต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปเจรจากับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้เข้ามาสร้าง Data Center เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากมาย แม้ยอดขายจะตกบ้างแต่ก็ยังเดินหน้าต่อ ประเทศไทยต้องมีการดึงแหล่งเงินทุนมาใหม่ ที่ตนเดินทางไปต่างประเทศก็เพราะให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ผ่านมาประเทศไทยแพ้อินโดนีเซียและเวียดนามมาตลอด แต่รัฐบาลก็ให้ความสำคัญเต็มที่ การดึงดูดการลงทุนเป็นแสนล้านต้องใช้เวลา แต่ก็มีการพัฒนาในขั้นตอนต่างๆ ที่ดี ควบคู่ไปกับการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ด้วย

ส่วนเรื่องพลังงาน หนึ่งในทางแก้คือการฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) กับประเทศกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลประกาศแล้วว่าจะแก้ไข โดยจากการประเมินก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท จะเอามาใช้อย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาราคาโครงสร้างพลังงานได้ ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถึงจะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม แต่ถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อมก็ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ รัฐบาลจึงมีนโยบายการขยายสนามบินทุกภูมิภาค รวมทั้งแลนด์บริดจ์ ที่สำคัญคือ รัฐบาลอยากทำให้ไทยเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของเอเชีย คือไม่ทะเลาะกับใคร ใครก็ตามที่มาใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ย่อมมั่นใจว่าเราเป็นมิตรกับทุกคน

หลังนายกรัฐมนตรีตอบจบ น.ส.ศิริกัญญา ถามคำถามสุดท้ายว่า การที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามที่ตนถาม เป็นการยืนยันว่าจะไม่มีมาตรการพยุงค่าครองชีพประชาชนในระยะสั้นเฉพาะหน้า หรือการแก้ปัญหาโรงงานต่างๆ ที่ปิดกิจการ “จากที่เล่ามาทั้งหมด ท่านวิเคราะห์ปัญหาและวินิจฉัยโรคถูก แต่ทางออกยังมืดมน ยังไม่เห็นรูปธรรม ที่ถามคือสิ่งที่ท่านจะทำตอนนี้โดยไม่ต้องรอดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคืออะไร งบประมาณไม่พอหรืออย่างไรในการนำไปช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพของประชาชนไปก่อน”

พร้อมกันนี้ น.ส.ศิริกัญญา มีข้อเสนอว่า รัฐบาลสามารถสร้างแรงจูงใจให้ท้องถิ่นนำเงินสะสมของตัวเองมาใช้ในการลงทุนขนาดเล็กในชุมชน ให้เกิดการจ้างงานในชุมชนต่างจังหวัดได้ ท้องถิ่นมีเงินสะสมอยู่จริงไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลออกครึ่งหนึ่ง ท้องถิ่นออกครึ่งหนึ่ง เพื่อนำไปแก้ปัญหาทั้งแหล่งน้ำและน้ำประปาในพื้นที่ ก็จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียว 

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาหลายเรื่อง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรวยและชนชั้นกลางเป็นหลัก มีกลุ่มเกษตรกรบ้างอย่างโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง แต่ก็มาในช่วงเวลาที่เกษตรกรลงปุ๋ยใส่นาไปหมดแล้ว ติดเงินเชื่อกับบริษัทขายปุ๋ยไปแล้ว ที่สำคัญคือ มีนโยบายที่เน้นไปที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากถึง 7 มาตรการ สัปดาห์ที่แล้วก็มีการมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาตอบกระทู้เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการเพิ่มสัดส่วนต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียม การถือครองทรัพย์อิงสิทธิ์ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีเป็นต้นคิดในมาตรการเหล่านี้ และได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดทำ แต่นโยบายเหล่านี้มีผลกระทบในเชิงลบค่อนข้างมาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องขายชาติหรือไม่ แต่ถ้าทำจริงจะนำไปสู่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงขึ้น มีกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์แน่ๆ แต่ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ไม่สามารถมีเงินมากพอที่จะซื้อบ้านได้อีกแล้ว สำหรับคำถามคือสุดท้ายคนไทยจะได้อะไรจากมาตรการนี้ และสัดส่วนที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจคืออะไร

นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสุดท้ายโดยยืนยันว่า รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำอย่างต่อเนื่อง บางมาตรการไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่ใช้นโยบาย ความมุ่งมั่น และการประสานงานร่วมกัน “ส่วนเรื่องของการถือครองที่ดินของต่างชาติ 99 ปี อย่างที่ได้แจ้งว่าให้มีการเสนอให้มีการศึกษาเรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะเป็นการลิงก์กันหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้ามา ก็เป็นการเรียกร้องจากฝ่ายต่างประเทศ อยากจะให้มีการพิจารณา เรื่องของการเพิ่มระยะเวลาจาก 30 ปี เป็น 99 ปี เรียนว่าไม่ใช่เป็นการขายชาติ เป็นการให้การศึกษาว่าจริงๆ แล้วเหมาะสมหรือไม่ในการที่จะให้ทำ” 

เพราะฉะนั้นตรงส่วนนี้ขอฝากให้ดูกันว่าถ้าหากทำขึ้นมาแล้วจะส่งผลระยะยาวต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ก่อให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศสูงหรือไม่ ขอยืนยันว่าจะต้องมีการศึกษาแล้วตั้งใจทำให้อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนทุกๆ ประการ ไม่ได้มีการกดดันใครทั้งสิ้น ยืนยันว่ารัฐบาลนี้ ภายใต้การนำของตน เราจะวิ่งสู้เพื่ออนาคต และพรรคร่วมทุกๆ พรรคที่อยู่ในรัฐบาลเราก็จะช่วยกัน วิ่งสู้ต่อไปเพื่อปัจจุบันที่ดีกว่า ต้องสู้กับแรงค้านที่ไร้อนาคต.