สภา กทม. เห็นชอบขยายเก็บค่าธรรมเนียมขยะออกไปอีก 1 ปี ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน พร้อมมีมติตั้ง คกก.วิสามัญร่างข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมการเก็บขยะแบบใหม่ “ชัชชาติ” คาด ค่าเก็บขยะอัตราใหม่ ช่วยสร้างรายได้ และสร้างจิตสำนึกประชาชน

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอญัตติ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... พร้อมกล่าวว่า กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง 

“จึงเห็นสมควรปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ และเห็นควรให้ขยายการเก็บค่าธรรมเนียมขยะออกไปอีก 1 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงิน หากยังเก็บอัตราเดิมกรุงเทพมหานครจะมีรายได้ 169 ล้านบาท หากเก็บในอัตราใหม่จะได้ประมาณ 676 ล้านบาท หากจัดเก็บค่าธรรมเนียมรายปีจาก 20 บาท เป็น 80 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 เท่าในเวลานี้ ย่อมส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน และไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนผู้คัดแยกขยะอีกด้วย”

...

จากนั้น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สก.เขตจอมทอง ได้ร่วมอภิปรายว่า ค่าธรรมเนียมขยะเดิมใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 แก้ไขในปี พ.ศ.2548 และเลื่อนการพิจารณาเพิ่มค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ มา 5 ปีแล้ว จึงต้องการให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครชี้แจงโดยละเอียด เพื่อให้ทราบข้อดีของการเพิ่มค่าธรรมเนียมฯ เพื่อประกอบการพิจารณาให้ผ่านญัตติในครั้งนี้ รวมถึงการพิจารณากฎหมายเพื่อบังคับใช้ควบคุมให้ครัวเรือนและผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะในรูปแบบต่างๆ ให้ครอบคลุมครบถ้วน เนื่องจากส่งผลกระทบกับเรื่องงบประมาณ รายได้ประจำปีของกรุงเทพมหานคร

ทางด้าน นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สก.เขตวัฒนา ให้ข้อสังเกตว่า การเก็บอัตราค่าธรรมเนียมมูลฝอยทั่วไปรูปแบบใหม่ ถือว่ามีความเหมาะสม และเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีการวัดปริมาณของขยะในการจัดเก็บเป็นหน่วยลิตรต่อวัน ผู้ที่ทิ้งขยะมากสร้างขยะให้เมืองมาก ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง แต่ขอฝากข้อพิจารณาให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการคำนวณส่วนได้-เสียจากค่าใช้จ่ายในการให้บริการของกรุงเทพมหานครให้ถี่ถ้วน รวมถึงให้ตั้งกรอบระยะเวลาของการสร้างแรงจูงใจจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในอัตราดังกล่าวให้ชัดเจน เนื่องจากมีผลกระทบกับงบประมาณด้านการคลังของกรุงเทพมหานคร รวมถึงให้มีการประเมินผลและตรวจสอบประโยชน์ว่าประชาชนคัดแยกขยะจากต้นทางเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

ขณะที่ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบายถึงหลักการเหตุผลให้ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณาว่าสภากรุงเทพมหานครควรเห็นชอบให้ขยายการบังคับใช้อัตราค่าธรรมเนียมฯ อัตราใหม่ไปอีก 1 ปีหรือไม่ อย่างไร และทำให้กรุงเทพมหานครเสียประโยชน์มากขึ้นหรือไม่

หลังอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ลงมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด และจะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป

ต่อมา นายชัชชาติ ได้เสนอญัตติ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .... ว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และสอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาหลักที่แตกต่างระหว่างปี 2546 กับปี 2562 คือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะมีอัตราของปริมาณขยะประกอบด้วย เป็นส่วนสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่ทิ้งขยะจำนวนน้อย ไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือผู้ที่คัดแยกขยะต้นทางจากครัวเรือนได้มากกว่า รวมถึงเก็บอัตราค่าธรรมเนียม กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีจำนวนขยะมากในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม และอัตราดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้คัดแยกขยะอีกทางด้วย 

ทั้งนี้ การคาดการณ์รายได้จากการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ จะทำให้ กทม. สามารถจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น จาก 166 ล้านบาท เป็น 664 ล้านบาท ซึ่งหัวใจของการจัดเก็บอัตราใหม่นี้ คือจะเก็บเงินกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขยะสู่เมืองในอัตราที่สูงขึ้น และหากใครช่วยคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ก็จะได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง โดยร่างข้อบัญญัตินี้ไม่ได้ตั้งกรอบระยะเวลาไว้ เนื่องจากต้องการสร้างจิตสำนึกของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการให้บริการประชาชน

สำหรับสาระสำคัญอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 

  • กลุ่มที่ 1 ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ค่าเก็บและขน 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท (เดิม 20 บาท) 
  • กลุ่มที่ 2 เกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน (เดิม 40 บาท/20 ลิตร) และเกิน 500 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เดิม 2,000 บาท) ค่าเก็บและขน 60 บาท/20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร 
  • กลุ่มที่ 3 เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (เดิม 2,000 บาท/1 ลูกบาศก์เมตร) ค่าเก็บและขน 3,250 บาท/1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาท/1 ลูกบาศก์เมตร รวม 8,000 บาท/1 ลูกบาศก์เมตร

“ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครยังไม่มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว แต่กรุงเทพมหานครมีโครงการไม่เทรวม ซึ่งสามารถลดขยะไปได้กว่า 10% จากความร่วมมือของประชาชน ดังนั้น หากเริ่มการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว ก็คาดการณ์ว่าจะสามารถลดขยะของกรุงเทพมหานครได้ปริมาณมหาศาล และสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอีกทางด้วย” 

โดย นายพีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ก่อนที่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร จะมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ....  จำนวน 19 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน.