“จุลพันธ์” เผยมติคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต จ่อดึงงบประมาณ 67-68 แทน อาจไม่ต้องใช้เงิน ธ.ก.ส. พร้อมปรับกรอบวงเงินเหลือ 4.5 แสนล้าน แต่กลุ่มเป้าหมายเท่าเดิม 50 ล้านคน ตัดสินค้าอุปกรณ์สื่อสาร-เครื่องใช้ไฟฟ้าออก มั่นใจได้ใช้ในปลายไตรมาส 4

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ภายหลังจาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 7/2567 โดยมี นายสุรชาติ เทียนทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 กระทรวงการคลัง โดยใช้เวลาประชุมนาน 4 ชั่วโมง 

นายจุลพันธ์ เปิดเผยว่า การประชุมมีข้อสรุปดังนี้ สำหรับการลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต จะใช้ระบบ KYC การยืนยันตัวตนสำหรับลูกค้าผู้บริโภค ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งขณะนี้ประชาชนสามารถเข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตนไปบางส่วนแล้ว และระบบ KYM การยืนยันตัวตนสำหรับร้านค้า เบื้องต้น ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์มีร้านค้าอยู่ในระบบแล้วราว 2-3 ล้านราย 

...

ส่วนเงื่อนไขการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยังเป็นหลักเกณฑ์เดิม คือ ผู้เข้าร่วมโครงการอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป (ณ 30 กันยายน 2567) รายได้รวมในบัญชี 500,000 บาท รวมทุกบัญชี (ณ 31 มีนาคม 2567) และผู้มีรายได้ 840,000 บาท ในฐานปีภาษี 2566 

ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี

  • การใช้จ่ายระหว่าง “ประชาชน กับ ร้านค้า” เงื่อนไขเป็นไปตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ กำหนดให้การใช้จ่ายในรัศมีภายในอำเภอ 
  • การใช้จ่ายระหว่าง “ร้านค้า กับ ร้านค้า” มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขรัศมีระยะทาง จากเดิมกำหนดร้านค้าต่อร้านค้าภายในเขตอำเภอ เปลี่ยนเป็นไม่กำหนดระยะระหว่างร้านค้ากับร้านค้า และทุกร้านค้า 

ส่วนรายการสินค้า Negative List มีการเปลี่ยนแปลง โดยนำเอาสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์สื่อสารออกจากโครงการ 

สำหรับแหล่งที่มาของเงิน ก่อนหน้านี้คาดการณ์จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนหนึ่ง แต่วันนี้ได้ปรับวงเงินที่จะใช้โครงการนี้เหลือ 450,000 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณ เสนอให้ใช้เงินงบประมาณปี 2567 จำนวน 152,700 ล้านบาท และงบประมาณปี 2568 จำนวน 132,300 ล้านบาท รวม 285,000 ล้านบาท ซึ่งวางกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการไว้จำนวนเท่าเดิม 50 ล้านคน โดยจะต้องรอให้สรุปตัวเลขลงทะเบียนก่อน จึงจะสามารถระบุได้ว่าจะใช้งบประมาณเท่าใด คาดว่าจะไม่ต้องนำงบของ ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการ ยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะสามารถใช้ได้ทันกรอบเวลาเดิมคือปลายไตรมาส 4

โดยการประชุมวันนี้ เพื่อสรุปรายละเอียดเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ชุดใหญ่ ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 และเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ต่อไป.