“ร.อ.ธรรมนัส” ชี้ ปมที่ดินทับซ้อนป่าทับลาน 1.5 แสนไร่ ต้องให้กระทรวงทรัพย์ฯ จัดการ แนะต้องแยกคนทำผิดกับปัญหาประชาชน และอะไรคือกลุ่มทุน อะไรคือเกษตรกร ยันไม่ทราบ รีสอร์ตที่พรรคพลังประชารัฐเคยไปจัดสัมมนา เป็นที่ดินที่มีปัญหาในอุทยานแห่งชาติทับลาน
วันที่ 9 ก.ค. 2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณี การคัดค้านเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนว่า ขั้นตอนขณะนี้ไม่อยู่ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมาทุกเรื่องกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้ทำงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ ทั้งหมดทั้งเรื่องที่ดินก็มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เรื่องข้าวก็มีคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ
กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดขึ้นในรัฐบาลหลายยุค แต่มาสรุปต้นปี 2566 ในรัฐบาลยุคที่แล้ว เรื่องการปรับแนวเขตปี 2543 โดยหลังจากที่ ครม.เห็นชอบ ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องไปดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และขณะนี้ก็มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ขอให้เข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขออย่านำมาผสมผสานจนเข้าใจผิด ในฐานะที่ตนกำกับดูแล สปก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) หาก สคทช. เห็นชอบอย่างไรก็จะนำเสนอต่อ ครม. เมื่อเห็นชอบให้ สปก.นำไปจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรทำกินก็จะนำไปปฏิบัติ ขอให้เข้าใจตรงนี้ตนเห็นสื่อบางสำนักไปโจมตี สปก. ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย
เมื่อถามว่า ที่ดินที่มีปัญหาที่อุทยานแห่งชาติทับลานคาบเกี่ยวกับบางรีสอร์ตที่พรรคพลังประชารัฐเคยไปจัดสัมมนาเมื่อปี 2562 และต่อมาก็มีมติ ครม.นั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้
...
ส่วนจำนวนที่ดินที่ทับซ้อนประมาณ 150,000 ไร่ ในจำนวนนี้พบว่า มีของนายทุนและชาวบ้านนั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ที่ดินเหล่านี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมีคณะกรรมการตรวจสอบ และจำแนกชัดเจนว่า ตรงไหนที่ประชาชนร้องเรียนมาไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด จนนำไปสู่การประชุมของการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) และย้ำว่า ต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนถึงแนวเขตว่าตรงไหนควรอนุอนุรักษ์เป็นป่า ตรงไหนที่ชาวบ้านอยู่อยู่แล้ว หลายคนที่ออกมานำเสนอ ก็มีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงแต่ต้องเข้าใจก่อนว่า กรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน มีมาตรการและขั้นตอนอยู่เพราะฉะนั้นขอให้ใจเย็นๆ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์อยู่
ส่วนจะต้องใช้แผนที่ใดในการแบ่งเขต ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่จะปฏิบัติอะไรก็ต้องนำมติที่ผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินเข้า ครม.
เมื่อถามว่า การออก สปก.ทับที่อุทยานเกิดขึ้นหลายพื้นที่ ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรเป็นหน่วยงานปฏิบัติที่ต้องทำตามมติ ครม. เมื่อเห็นชอบอย่างไรเราก็ต้องนำไปปฏิบัติหากไม่ปฏิบัติก็จะโดนมาตรา 157 ดังนั้นเรื่องนี้ยังไม่ถึงกระบวนการของ สปก. ตอนนี้เป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องดำเนินการและหลังจากที่กรมอุทยานเห็นชอบอย่างไรก็จะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนตรงไหนที่เป็นกลุ่มนายทุนบุกรุกก็จะต้องถูกออกหมายจับดำเนินคดีอาญา ดังนั้นต้องแยกแยะระหว่างผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายกับปัญหาประชาชน
ส่วนที่หลายคนกังวลใจว่าหากมีการออกแนวเขตจะเป็นการนิรโทษกรรมนายทุนทั้งหมดร้อยเอกธรรมนัส ระบุว่า ต้องจำแนกให้ชัดเจนว่าอะไรคือกลุ่มทุนอะไรคือเกษตรกร
ร.อ.ธรรมนัส ยังยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การงัดข้อกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องนี้เราคุยกันตลอด และตนเองก็ได้หารือกันกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีปัญหาอะไร ยังไม่ถึงกระบวนการที่ สปก.จะเข้าไปดำเนินการ
ส่วนปัญหาความเห็นไม่ตรงกันของทั้งสองกระทรวงที่มีบ่อยครั้ง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตอนนี้เรามีคณะกรรมการที่ทำงานร่วมกัน