อย่าว่าแต่ประเทศไทยที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยแจ่มใสนัก สถานการณ์โลกก็ยิ่งน่าหวาดหวั่นเข้าไปใหญ่

เพราะความขัดแย้งเบ่งบานมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 1-2 จุดสุดท้ายที่นำไปสู่สงครามก็คือปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศ “มหาอำนาจ”

สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงรณรงค์หาเสียงเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ก็เกิดปัญหาว่าผู้สมัครของแต่ละพรรคล้วนอยู่ในวัย “ชราภาพ” โดยเฉพาะ “โจ ไบเดน” ผู้นำคนปัจจุบันที่อ่อนล้าลงทุกวัน

จนมีการเสนอแนะให้ถอนตัวเสียดีกว่า กลัวว่าจะไปไม่รอดทั้งตัวบุคคลและประเทศชาติ ยิ่งปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งค่อนข้างจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้สหรัฐฯมีหนี้สินกองโตไม่ว่าใครพรรคไหนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็จะเจอกับปัญหาใหญ่ที่จะทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

อันไม่ต่างไปจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังแปรปรวนไม่ค่อยดีนัก

หากราคาทองยังขึ้นพรวดอย่างทุกวันนี้

นั่นแหละคือสัญญาณสงครามใหญ่กำลังจะมาถึง

มองโลกแล้วหันมามองเราบ้าง ปัญหาเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกคือทรุดตัวลงอย่างชัดเจน

รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ประกาศจะทำให้เศรษฐกิจสดใสจนป่านนี้ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างไร

“กระตุ้นเศรษฐกิจ” ไม่ใช่ “เศรษฐกิจฟื้นตัว” ความหมายมันต่างกันมาก

จนถึงวันนี้แม้จะได้รัฐมนตรีคลังคนใหม่แต่ก็ยังไม่มีมาตรการอะไรที่พอจะทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นมาอย่างไร

ยังวนอยู่กับ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ไม่จบสักที

แน่นอนว่ารัฐบาลมั่นใจว่านโยบายนี้จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงรอบที่จะหมุนไปถึงจุดนั้นได้

...

เอาล่ะ...หาก “ดิจิทัลวอลเล็ต” เดินหน้าได้

แต่จะมีหลักประกันอะไรว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้เพราะมันแค่ตัวกระตุ้นไม่ใช่ตัวที่จะบันดาลให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้

ตรงกันข้ามถ้าไม่ได้...จะเกิดอะไรขึ้น

เม็ดเงินมหาศาล 5 แสนล้านบาท ที่ถูกแจกออกไปก็คงมลายสิ้น ปล่อยให้เป็นหนี้สินภาระของประชาชนที่ต้องแบกรับกันไป

พูดกันว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยนั้นหนักหนากว่า “ต้มยำกุ้ง” ที่ไทยเจอเข้าไปจนอ่วม กว่าจะแก้ไขได้ก็ต้องใช้เวลาหลายปีจนคืนเงินกู้เขาได้

ใครที่อยู่ในยุคสมัยนั้นคงรู้ว่ามันโหดร้ายแค่ไหน?

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องคิดและหาทางแก้ไขด้วยแนวนโยบายที่มีความชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรหนึ่งสองสาม

ไม่ใช่ทุกวันนี้ที่ว่ากันไปเรื่อยไอ้โน่นก็จะทำไอ้นี่ก็จะทำ

แต่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่มีแนวทางชัดเจน

พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องแสดงความคิดความอ่านกันบ้างเพื่อเสนอแนวทางให้รัฐบาลปฏิบัติในฐานะที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ไม่ใช่เกาะติดกลัวจะถูกเขี่ยก็เลยไม่กล้าบอกกล่าวกัน!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม