สส.รัฐบาลบางส่วนอาจทนไม่ไหว เมื่อได้รับฟังความทุกข์ร้อนของประชาชน จึงออกมาเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ที่เป็นรัฐบาลมาเกือบปีแล้ว นั่นก็คือ นายวรชัย เหมะ อดีตผู้นำกลุ่มคนเสื้อแดง ปัจจุบันที่เป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ไม่ทราบว่าเป็นรองฯคนไหน เพราะประเทศไทยมีรองนายกรัฐมนตรีค่อนข้างมากถึง 6 คน หรือครึ่งโหล

นายวรชัยบ่นว่านายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วเกือบหนึ่งปี เป็นนายกฯที่ขยันลงพื้นที่ และโรดโชว์มาแล้วทั่วโลก แต่วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาเงินสดในระบบหายไป บ้านกับรถโดนยึด ขายของไม่ออก มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทำให้รัฐบาล นายกฯ และพรรคเพื่อไทย เสื่อมความเชื่อถือ จึงอยากให้นายกฯแบ่งเวลาลงพื้นที่

ไปนั่งทำงานในทำเนียบ เรียกข้าราชการกระทรวงต่างๆมารายงานความคืบหน้าของนโยบาย เป็นเสียงบ่นจากคนของรัฐบาล เพราะทนฟังเสียงบ่นของประชาชน ไม่ไหว เรื่องปัญหาปากท้อง ทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเสื่อมความนิยม เห็นได้ชัดเจนจากผลของโพลต่างๆ ล้วนแต่ระบุว่า คะแนนนิยมพรรคก้าวไกลชนะพรรคเพื่อไทย

ประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนจริงหรือ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปพูดในรายการ “ฉายภาพเศรษฐกิจไทย” ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ฟื้นตัวจริงแต่ซ่อนความยากลำบาก คงทุกข์ของคนหลายกลุ่ม มีหลุมรายได้หายไปมหาศาล แต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น

มีนักวิชาการอีกท่านหนึ่ง ที่วิจารณ์เศรษฐกิจไทย แต่กลายเป็นนักรัฐศาสตร์ นั่นก็คือ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ใน “ภาวะซบเซา” เป็นผลสืบเนื่อง จากรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่ทำให้การเมืองไม่มั่นคง

...

อาจารย์ระบุว่า รัฐประหาร 2 ครั้ง ทำให้การเมืองไม่มั่นคงเป็นเวลายาวนานถึง 2 ทศวรรษ ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจจะยิ่งทรุดหนัก แต่ไม่รู้ว่าจะซบเซา นานแค่ไหน เพราะมีบทเรียนในอดีตที่แสดงว่า ประเทศไทยไม่ยอมปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง แม้จะมีรัฐธรรมนูญบังคับให้ปฏิรูป ด้านต่างๆโดยเร็ว

เรื่องที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะเร่งรัดให้ข้าราชการของกระทรวงต่างๆดำเนินการตามนโยบาย แต่นโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่มักเป็นประชานิยม ลดแลกแจกแถม มุ่งหา เสียงมากกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตในขณะนี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม