"นิกร จำนง" เลขาฯ กมธ.นิรโทษกรรม เผย กมธ.นิรโทษฯ เคาะ 2 แนวทางล้างผิด ให้หน่วยงานรัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณา รับคำร้อง-วินิจฉัย พร้อมเปิดช่องอุทธรณ์ จ่อ ถกปมผิด ม.112 ชี้ใน 2 สัปดาห์ รู้เรื่อง

เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 4 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการประชุม กมธ.ในวันนี้ว่า มีมติ 2 เรื่องคือ

การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสานจะมีการดำเนินการนิรโทษกรรมโดยใช้กลไก 2 ส่วน คือ กลไกที่ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมาย และประสงค์ใช้สิทธิให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของหน่วยราชการนั้น ให้หน่วยราชการมีอำนาจรับคำร้องและพิจารณา หรือวินิจฉัยให้สิทธินิรโทษกรรมคดีที่เข้าองค์ประกอบที่จะได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีฐานความผิดแนบท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1. หากคดีอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน ให้พนักงานสอบสวน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าของคดีให้ยุติการสอบสวน
2. คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ ให้อัยการยุติการดำเนินคดีที่อัยการส่งฟ้องแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ให้พนักงานอัยการถอนฟ้อง
3. กรณีที่จำเลยถูกฝากขังในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออกหมายปล่อย
4. คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด และผู้ต้องคดีเป็นนักโทษในเรือนจำ ให้ศาลพิจารณาออก
หมายปล่อย เพื่อให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนักโทษ
5. คดีถึงที่สุด ผู้เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิด ประสงค์ขอให้ลบล้างประวัติให้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
6. ให้หน่วยงานตาม 5 ข้อ จัดทำรายงานเกี่ยวกับคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรม เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา หากคณะกรรมการไม่มีความเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือถือว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมตามเสนอ กรณีผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาแล้ว ได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการนิรโทษกรรม

...

นายนิกร กล่าวว่า กลไกที่ 2 ให้ผู้ได้รับสิทธินิรโทษกรรมตามกฎหมายขออุทธรณ์ กรณีที่หน่วยราชการปฏิเสธไม่ให้สิทธินิรโทษกรรม ให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน มีองค์ประกอบ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ และคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

1. พิจารณารายงานคดีที่จะให้มีการนิรโทษกรรมที่หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมเสนอ หากมีความเห็นแย้งให้ตอบกลับหน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรมภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานนั้น
2. พิจารณาอุทธรณ์กรณีผู้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยราชการในกระบวนการยุติธรรมที่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณา ได้รับการปฏิเสธไม่ดำเนินการ ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการนิรโทษกรรมมีผลผูกพันหน่วยราชการดังกล่าวให้พิจารณาการให้นิรโทษกรรม
3. หยิบยกคดีที่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อส่งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งกรณีที่คณะกรรมการเห็นเอง หรือกรณีที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องร้องขอ
4. พิจารณาชี้ขาดกรณีที่มีปัญหามาสู่คณะกรรมาการว่าคดีใดได้รับสิทธิตาม
พระราชบัญญัตินี้หรือไม่ จากการเสนอของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงกรณีที่คณะกรรมาการพบเห็นเอง
5. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภา
เพื่อทราบ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน
6. สื่อสารสร้างความเข้าใจสาธารณะเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดอง
7. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

นายนิกร กล่าวว่า มีเรื่องหลักๆ คือการไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ การคืนสิทธิบางอย่างให้ นอกจากนี้ ยังจะมีการพิจารณาเรื่องฐานความผิดอะไรบ้าง มีกี่อย่างที่จะนิรโทษกรรมให้ เมื่อถามย้ำถึงวาระการพิจารณา รวมถึงมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า คดี 112 จะมีการพิจารณาทีหลัง เพราะเดิมศึกษามาใน 17 ฐานความผิด ไม่มีเรื่องนี้ แต่หลังจากที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอมา เราก็นำมารวมอยู่ด้วย โดยจะต้องมีการตัดสินใจอีกครั้งว่าจะรวมหรือไม่รวม เข้าใจว่าสัปดาห์หน้าก็จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะเคาะได้ ตอนนี้ตนเริ่มทำรายงานในส่วนของอนุกรรมาธิการและสั่งพิมพ์แล้ว เหลือเพียงแค่ชุดใหญ่ ตั้งใจไว้ว่าสิ้นเดือน ก.ค.จะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของสภาได้ แต่หากไม่ทันก็อาจจะขยับไปไม่เกิน 2 สัปดาห์

เมื่อถามย้ำอีกว่า จะเคาะเรื่องความผิดมาตรา 112 เลยใช่หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการพูดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะตอนนี้โครงสร้างเสร็จหมดแล้ว และการร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องมีบัญชีแนบท้ายที่ว่า การจะนิรโทษกรรมจะรวมฐานความผิดอะไรบ้าง เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา ส่วนที่ประชุมสภาจะเอาอย่างไรก็แล้วแต่ ย้ำว่า กมธ.ชุดนี้มีหน้าที่แค่ชี้แนวทางในการทำร่างกฎหมาย ไม่ได้มีหน้าที่ยกร่าง