มีผลตั้งแต่พรุ่งนี้ BEM แจ้งปรับค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” อัตราใหม่ เริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท โดยจะใช้อัตรานี้ไปจนถึง 2 ก.ค. 2569
วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แจ้งอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567-2 กรกฎาคม 2569 ซึ่งเป็นไปตามสัญญาสัมปทานที่กำหนดให้ปรับอัตราค่าโดยสารทุกระยะเวลา 24 เดือน หรือทุก 2 ปี ภายใต้พื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค
สำหรับอัตราค่าโดยสารเต็มราคา เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 45 บาท (จากเดิมเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 43 บาท) ซึ่งจะปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท ณ จำนวนสถานีที่เดินทางที่ 2, 3, 4, 5, 6, 7, 9 และ 11 นับจากสถานีต้นทาง และปรับเพิ่มขึ้น 2 บาทจากเดิม ณ จำนวนสถานีที่เดินทางที่ 8, 10 และ 12 สถานีเป็นต้นไป ทั้งนี้ ยังคงมีส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% และสำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ของอัตราค่าโดยสารบุคคลทั่วไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
...
สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กำหนดให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารทุกๆ ระยะเวลา 24 เดือน นับตั้งแต่เริ่มการบริการที่ก่อให้เกิดรายได้ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2547) โดยอัตราค่าโดยสารปัจจุบันจะครบกำหนด 24 เดือน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ประกอบกับมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการและความสะดวกในกิจการรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการและค่าธรรมเนียมดังกล่าว และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร โดยได้รับความเห็นชอบจาก ครม.
รฟม. จึงได้ยกร่างข้อบังคับดังกล่าว เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล โดยคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามความเป็นจริงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) โดยใช้ตัวเลขของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลในการคำนวณอัตราค่าโดยสารใหม่ตามสัญญาจะมีอัตราเริ่มต้น 17 บาท สูงสุด 45 บาท และจะมีผลบังคับใช้ 24 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2567