ผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสในครั้งที่ 2-2567 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งประกาศออกมาล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า
พรรคก้าวไกล ยังคงเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนเกือบ 50% ให้การสนับสนุนเป็นอันดับ 1 แม้ว่า พรรคนี้จะอยู่ในข่ายที่อาจถูกวินิจฉัยให้ยุบพรรคจากข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครองก็ตาม
ผลสำรวจที่ทำขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 มิ.ย. 2567 จากประชากรกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป กระจายในทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้จำนวน 2,000 ตัวอย่างจากฐานข้อมูลของ นิด้าโพล ที่ยืนยันว่า 97% เชื่อถือได้
พบว่า พรรคการเมืองที่ประชาชนยังคงสนับสนุนเป็นอันดับ 1 หรือ 49.20% คือ พรรคก้าวไกล อันดับ 2 เป็น พรรคเพื่อไทย 16.85% อันดับ 3 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ 15% อันดับที่ 4 คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งได้คะแนน 7.55% และ อันดับ 5 คือ พรรคประชาธิปัตย์ 3.75%
ความนิยมในตัว “พิธา” รุ่ง
ส่วน “เศรษฐา” ร่วง
เมื่อถามว่าบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้คือใคร คำตอบคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 หรือ 45.50% อันดับ 2 ตอบว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 20.55% และ อันดับ 3 คือ เศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) ได้คะแนนความนิยมไป 12.85% อันดับ 4 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ได้ 6.85% อันดับที่ 5 เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) ได้คะแนนไป 4.85%
...
ถ้าเอาผลโพลนี้มาชำแหละดู จะพบว่า พรรคพลังประชารัฐ หลุดจากความนิยมใน 5 อันดับแรกลงไปอยู่ในลำดับท้ายๆ ใกล้กับพรรคเล็กๆ และพรรคที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่
และเมื่อเทียบสถิติเก่ากับใหม่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 กับ ไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567 พบว่าคะแนนความนิยมของ พิธา เพิ่มขึ้นตามลำดับจาก 39.40-42.75-45.50%
อันดับ 2 ที่ตอบว่า ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้ มีคะแนนเพิ่มขึ้นเช่นกันคือ 18.60-20.05-20.55% ส่วนอันดับที่ 3 เศรษฐา มีคะแนนความนิยมลดลงคือ 22.35-17.75-12.85%
ในทางกลับกัน เมื่อดูคะแนนของ พีระพันธุ์ ความนิยมกลับเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 จาก 2.40-3.55-6.85% ส่วนอันดับท่ี 5 น.ส.แพทองธาร คะแนนที่ได้ลดลงจาก 5.75-6.00-4.85%
คนมีสี-กูรูการเมือง ให้เวลาก่อนส้ินปี
เสถียรภาพรัฐบาล เศรษฐา อาจไม่รอด!
ส่ิงนี้บอกอะไร? กูรูการเมืองในกลุ่มคนมีสี บอกว่า สภาพการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำ ของ นายกฯ เศรษฐา ยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ที่แย่กว่านั้น นายกฯ เศรษฐา ยังคงถูกด้อยค่าความนิยมลงตามลำดับ เพราะคนในพรรคเพื่อไทยเอง
ที่น่าจะเป็นประเด็นในอนาคตหลังจากที่เห็นชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ หลุดจากวงโคจรไปแล้ว ก็คือ คะแนนความนิยมของหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับคะแนนอันดับ 2 ของพวกที่ตอบว่า ยังหาคนเหมาะสมจะเป็นนายกฯ ไม่ได้
“ดูให้ดีว่า เดิมคะแนนความนิยมอันดับ 2 เป็นของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนคะแนนนิยมที่ พีระพันธุ์ ได้มาเป็นอันดับ 4 น่าคิดมากว่าได้มาเพราะ บิ๊กตู่ ด้วยหรือไม่...
ถ้าเอา 20.55+6.85 ก็จะได้เท่ากับ 27.4% จัดว่า มีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับที่ 2 แปลว่าแสงไฟยังคงสาดส่องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เวลาอีกสักพักก่อนส้ินปีละกัน”
เศรษฐกิจไทยฝืดเคืองหนัก
เต็นท์รถเจ๊ง ตลาดหุ้นต๊อแต๊ สต๊อกบ้านบวม
ทีนี้มาดูกันว่า เพราะอะไรคะแนนนิยมของ นายกฯ เศรษฐา จึงสาละวันเตี้ยลง คำตอบที่ได้ น่าจะเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพฝืดเคืองหนัก และค่อยๆ ถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ
อย่างแรกที่เห็นคือ เต็นท์รถมือสองเจ๊งระนาว เพราะรัฐบาลให้การอุดหนุน และสนับสนุนการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าอย่างหนักจนเกิดการล้นทะลัก และเป็นเหตุให้หลายค่าย ต้องยอมลดราคารถยนต์ไฟฟ้ามือหนึ่งลง
สำคัญกว่านั้น รัฐบาลยังไม่ได้ลงไปดูค่ายผู้ผลิตรถยนต์สันดาปในประเทศไทยด้วยว่า อาการพวกเขาเป็นอย่างไร?!
เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองหนัก ยังเป็นเพราะผู้คนไม่มีกำลังซื้อ แม้รัฐบาลจะพยายามลดภาระราคาพลังงานลง แก้ปัญหาหนี้ให้ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับการที่ผู้คนต้องเผชิญภาวะค่าครองชีพสูง ในขณะที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น
ยังมีความท้อแท้ และสิ้นหวังจากเซียนหุ้นที่เชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยยากจะกลับมาดีเป็นการถาวรได้ ตราบเท่าที่โครงสร้างสังคมที่ทรุดโทรมลงในหลายด้าน ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไข
นี่ยังไม่นับปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ยอดล้นมาจากปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบันที่การสำรวจภาคสนาม พบว่า ยอดขายรวมดรอปลง -26.6% คอนโด -39% บ้าน -16%
ส่วนบ้านเดี่ยวราคาแพงเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์รายงานว่า คนรวยหยุดซื้อบ้านเหล่านี้แล้ว มีผลทำให้สต๊อกบ้านเดี่ยวบวม หรือคงค้างสูงถึง 13,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่ารวม 320,000 ล้านบาท
เด็กไทยหลุดจากระบบเป็นล้านคน
ปัญหาสะสมนาน ทำให้สังคมไทยเปราะบาง
มาดูภาคสังคมของประเทศบ้าง สังคมไทยวันนี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะเปราะบางใกล้แตกเต็มที ด้วยเหตุผลเพราะคนสูงวัย และ คนจนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
มิหนำซ้ำเด็กไทยรุ่นใหม่ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตกลับพบว่า หลุดออกไปนอกระบบการศึกษานับล้านคนแล้วในปีนี้ โดยที่นายกฯ และรัฐบาลยังไม่มีนโยบายใดๆ ในการเข้าไปโอบอุ้มดูแล และแก้ไขปัญหานี้
ทั้งๆ ที่การสร้างคน และโอกาสในอนาคตระยะยาวแก่เด็กไทย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยี เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกประเทศต่างลุกขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ
เอาจริงๆ นะ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะโทษรัฐบาลนายกฯ เศรษฐาเสียทั้งหมดก็คงไม่แฟร์ เพราะน่าจะเกิดขึ้น และหมักหมมสะสมกันมานานกว่า 9 ปี จนเข้าตำรา “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ทำให้หลังลาหัก
นี่ถ้าจะพูดกันตามประสาวัยรุ่น เขาเรียกจังหวะนี้ว่า จังหวะนรกโบ๊ะบ๊ะ!!
กระบองเพชร