โพล ชี้ เสียงกลุ่มคน LGBTQIA+สุดแฮปปี้ “นายกฯ เศรษฐา” ให้ความสำคัญคลอด กฎหมายเท่าเทียมทางเพศ ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ยกระดับไทยเสมอภาคเรื่องเพศชัดเจน ทัดเทียมโลก หวังเพิ่มรับรองสิทธิเลือกผู้รับมรดก

วันที่ 30 มิ.ย. 67 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง เสียงของ LGBTQIA+ กรณีศึกษาตัวอย่างกลุ่ม LGBTQIA+ ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,045 ตัวอย่างดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน พ.ศ. 2567 นี้ ความเท่าเทียมทางเพศ ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าอดีต

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นของกลุ่ม LGBTQIA+ ต่อการแก้ไขกฎหมายแห่งความเท่าเทียมทางเพศในหลากหลายประเด็น ได้แก่ เมื่อถามว่า วันนี้ กลุ่ม LGBTQIA+ รู้และเข้าใจมากน้อยเพียงไร ต่อกฎหมายแห่งความเท่าเทียมทางเพศ เช่น สมรสเท่าเทียม สิทธิการใช้คำนำหน้า สิทธิการสืบทอดสมบัติ สิทธิผู้รับผลประโยชน์ ของกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นต้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 ยังรู้และเข้าใจค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย ในขณะที่ร้อยละ 38.4 รู้และเข้าใจค่อนข้างมากถึงมากส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุดให้มีการเพิ่มการรับรองสิทธิในการเลือกผู้รับผลประโยชน์ สมบัติสืบทอดให้คู่ชีวิตเสมือนกับคู่สมรส

...

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า วันนี้รู้สึกพอใจต่อรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญของกลุ่ม LGBTQIA+ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.7 พึงพอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 33.3 พึงพอใจค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.2 ระบุว่าเท่าที่ทราบของกลุ่ม LGBTQIA+ คือ การแก้ไขกฎหมายแห่งความเท่าเทียมทางเพศ ช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าอดีตค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 11.8 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุดให้มีการเพิ่มการรับรองสิทธิในการเลือกผู้รับผลประโยชน์ สมบัติสืบทอดให้คู่ชีวิตเสมือนกับคู่สมรส ในขณะที่ร้อยละ 14.7 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุดให้มีคำนำหน้าคำว่า นาย และ นางสาว ให้กับกลุ่ม LGBTQIA+ ได้ใช้ตามต้องการ ในขณะที่ร้อยละ 18.2 ต้องการค่อนข้างน้อยถึงไม่เลยและเมื่อสอบถามความต้องการของกลุ่ม LGBTQIA+ ถึงความต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQIA+ อีกพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.1 ยังต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 15.9 ต้องการค่อนข้างน้อยถึงไม่เลย

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้ง ซูเปอร์โพล กล่าวว่า จากผลสำรวจของซูเปอร์โพลแสดงว่าชุมชน LGBTQIA+ ของประเทศไทยพอใจต่อความพยายามของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในการผลักดันกฎหมายเพื่อความเท่าเทียม แต่ยังคงต้องการสิทธิในการใช้คำนำหน้าที่เหมาะสมกับเพศและสิทธิในการสืบทอดทรัพย์สินและเลือกผู้รับผลประโยชน์สำหรับคู่ชีวิตเช่นเดียวกับคู่สมรส ซึ่งยังเน้นถึงความท้าทายและโอกาสสำหรับการปฏิรูปกฎหมายต่อไป โดยในเวทีโลก ความก้าวหน้าของสิทธิ LGBTQIA+ แสดงถึงภูมิทัศน์ที่หลากหลาย บางประเทศได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสิทธิในการแต่งงานของเพศเดียวกันและสิทธิในการเป็นผู้ปกครองซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างในการสร้างนโยบายที่รวมทุกคน

ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปสู่ความเท่าเทียมยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งในเชิงกฎหมายและสังคม แม้จะมีการสนับสนุนระดับนานาชาติและความก้าวหน้าบ้างในบางประเทศ แต่หลายแห่งยังคงมีช่องว่างในการปกป้องสิทธิของ LGBTQIA+ ด้วยการปรับนโยบายในประเทศให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติระดับนานาชาติเหล่านี้ ประเทศไทยสามารถยกระดับกรอบกฎหมายในการสนับสนุนความเท่าเทียม ความปลอดภัย และความเสมอภาคของชุมชน LGBTQIA+ ได้อย่างแท้จริง การดำเนินการเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยไม่เพียงตอบสนองมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระดับโลกเท่านั้น แต่ยังยกระดับสถานะของประเทศเป็นผู้นำในการเคารพสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนในด้านการส่งเสริมสิทธิของมนุษย์ที่เท่าเทียมและการเคารพความหลากหลายทางเพศ

ข้อเสนอแนะคือ

1. การรับรองเพศทางกฎหมายโดยจัดทำกฎหมายที่ให้การรับรองเพศทางกฎหมายอย่างชัดเจนและมีมนุษยธรรม โดยไม่ต้องการการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศหรือข้อกำหนดที่รุกราน เพื่อให้บุคคลข้ามเพศและไม่ไบนารีสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะเพศในเอกสารทางกฎหมายได้

2. สิทธิในการสืบทอดและสิทธิคู่สมรส ด้วยการขยายคำนิยามและปรับปรุงกฎหมายให้แน่ใจว่าบุคคล LGBTQIA+ และคู่ของพวกเขาได้รับสิทธิเดียวกันกับคู่สมรสแบบต่างเพศ เช่น สิทธิในการสืบทอดทรัพย์สิน, การจัดการทรัพย์สินร่วม, การตัดสินใจด้านการรักษาพยาบาล, และสิทธิในการอุปการะบุตร

3. กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ด้วยการเสริมสร้างและบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อปกป้องบุคคล LGBTQIA+ จากการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน, โรงเรียน, สถานพยาบาล และบริการสาธารณะอื่นๆ

“ด้วยการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเหล่านี้ ประเทศไทยจะสามารถส่งเสริมความเท่าเทียมและความปลอดภัยให้กับชุมชน LGBTQIA+ ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างในการเคารพสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก” ผู้ก่อตั้ง ซูเปอร์โพล กล่าว.