พลันที่ประตูห้องประชุมใหญ่ อิมแพ็คฟอรัม อาคาร 4 เมืองทองธานี สถานที่เลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศ ในเช้าวันที่ 26 มิถุนายน ปิดลง ผู้สมัคร 3,000 ชีวิต ก็เหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเช่นเดียวกับคนข้างนอก ไม่ว่าจะเป็น ...สื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์

ด้วยเห็นแต่เพียงภาพหน้าจอจากกล้องวงจรปิดที่ กกต.ถ่ายทอด โดยไม่มีเสียงบรรยายว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในขณะที่การเลือก “ระบบปิด” ดำเนินไปภายในห้องนั้น

เปิดบันทึกไม่ลับฉบับ “กลุ่มสตรีงานดี (เกินต้าน)” หนึ่งในผู้สมัครที่อยากจะบอกเล่าสิ่งที่เห็นและได้ยินมาจากที่เลือกตั้งกลุ่ม 14 (สตรี) เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ได้เห็นในเชิงลึกและทำความเข้าใจผลเลือก สว.

บรรยากาศภายในห้องประชุมใหญ่กว้างขวาง โอ่โถง ละลานตาเต็มไปด้วยผู้สมัคร

พื้นที่แต่ละกลุ่มจัดให้บูธลงคะแนนอยู่ด้านในสุด ถัดมาสองด้านซ้าย-ขวาเป็นโต๊ะลงชื่อก่อนรับบัตรลงคะแนน ส่วนที่เหลือเป็นแถวเก้าอี้ 100 กว่าตัว ตามจำนวนของผู้สมัคร สว.แต่ละกลุ่ม

...

ด้านหลังเก้าอี้ทุกตัวแปะตัวเลข เพื่อให้ผู้สมัครนั่งให้ตรงกับเบอร์ของตน

ในห้องนั้นเวลาประมาณ 8.30 น. ผู้สมัคร สว.กลุ่มสตรีจากทั่วประเทศ นั่งประจำที่อยู่เกินครึ่งหนึ่งแล้ว หลายคนยังคงเดินไปแนะนำตัวกับผู้สมัครอื่น เราทำตามบ้าง...เข้าไปทักทายกับผู้สมัคร 3-4 คนที่เคยแอดไลน์คุยกัน แนะนำตัวให้เห็นหน้าตาตัวเป็นๆ...พอกลับมานั่งประจำที่ เลยชวนคนที่นั่งติดกันคุยฆ่าเวลา

คุณสุภาพสตรีในชุดผ้าไทยพื้นเมืองจากแดนอีสานเล่าว่า เป็นคนสุรินทร์ ประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่ในอำเภอมา 22 ปี เป็นคนชอบช่วยเหลือคนอยู่แล้ว โดยเป็นคณะกรรมการสตรีอำเภอ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดสุรินทร์ เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับบทบาทสตรีเป็นประจำ ที่มาลงสมัคร สว.เพราะพัฒนาชุมชนชวนมา

“อืม...นักพัฒนาชุมชนยุคนี้ต้องรับงานส่งเสริมประชาธิปไตย ชวนคนลงสมัคร สว.ด้วยนะ ข้าราชการมหาดไทยทำได้ทุกอย่างจริงๆ เราแอบคิดอยู่ในใจ”

09.43 น. เริ่มการลงคะแนน กระบวนการนี้ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ละคนมีสิทธิเลือกได้ 10 เบอร์ นำแบบข้อมูลแนะนำตัวผู้สมัคร หรือที่เรียกว่า “สว.3” เข้าไปในคูหาได้ เพื่อป้องกันการกาบัตรผิดพลาด

ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายหน่อยก็เหมือนเป็นการสอบแบบเปิดดูหนังสือได้

เวลาผ่านไปจนกระทั่งผู้สมัคร สว.หมายเลข 154 ซึ่งเป็นคนสุดท้ายของกลุ่มสตรีหย่อนบัตรลงหีบ คนในห้องหลายคนปรบมือให้อย่างดีใจ เพราะนั่งรอกันจนเมื่อยเต็มที

ช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งกว่านั้นกำลังจะเริ่มขึ้น นั่นคือ “การนับคะแนน” ...มีการปรับสถานที่เล็กน้อย โดยนำกระดานที่ติดรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดมาตั้งเรียงกันเป็นแถวเพื่อขีดนับคะแนน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งทำหน้าที่ตรวจดูบัตรดี-บัตรเสียในเบื้องต้น ก่อนส่งให้ ผอ.กกต.ประจำหน่วยเป็นผู้ขานคะแนน

“ส่วนอีกคนถือบัตรจ่อไปยังกล้องวิดีโอ เพื่อให้ภาพบัตรขึ้นแสดงหน้าจอโทรทัศน์ภายในหน่วย ผู้สมัครจะได้มองเห็นผลการนับคะแนนทุกใบอย่างชัดเจน เราทราบภายหลังว่าผู้สังเกตการณ์และสื่อมวลชน ที่เฝ้ารออยู่ด้านนอก ได้เห็นแต่เพียงภาพที่ตัดสลับไปมาของหลายหน่วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นภาพการนับของหน่วยไหน”

เวลาสำคัญของการนับคะแนนกำลังจะเริ่มขึ้น กระดาษพร้อม ปากกาพร้อม ตาดู หูฟัง ต้องตื่นตัวตลอดเวลา การจดคะแนนของเราจะจดลำดับเลขบัตรไว้ด้านซ้าย แล้วต่อด้วยเบอร์ผู้สมัครที่ได้รับเลือกในบัตรแต่ละใบทั้ง 10 เบอร์ ตามการขานเลขที่เจ้าหน้าที่ กกต.ประกาศ

ที่เลือกจดแบบนี้เพราะเชื่อว่าจะทำให้เห็นรูปแบบการลงคะแนนบางอย่างได้ดีกว่าการขีดคะแนนบนกระดานตามแบบการนับคะแนนเลือกตั้งทั่วไป แม้ตอนนั้นจะไม่ได้คาดคิดว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร หรือจะเอาไปทำอะไรได้...ปกติเราเป็นคนที่ไม่บ้าหวย ไม่เคยซื้อหวยออนไลน์ บนดิน ใต้ดินอะไรทั้งสิ้น

ครั้งนี้จึงเป็นการจดตัวเลขเรียงเต็มหน้ากระดาษ 3 หน้าติดกันครั้งแรกในชีวิต ใครที่มาเห็นทีหลังถึงกับออกปากว่า “โพยลงคะแนน” เหรอพี่

บัตรสี่ห้าใบแรกยังไม่มีอะไรผิดปกติ ต่อมาบัตรลำดับที่ 6, 12, 15 เลขที่ถูกขานขึ้นมา 6 อันดับแรกเรียงเหมือนกันคือ “140, 85, 24, 17,148, 21, 121, 144, 31, 6” พอมาถึงบัตรลำดับที่ 28 และ 29 ซ้ำเหมือนโขกออกมาจากบล็อกเดียวกันอีก ผู้สมัครหลายรายร้องถามว่าเจ้าหน้าที่หยิบบัตรใบเดิมออกมาอ่านหรือเปล่า

“ไม่ใช่ครับ บัตรคนละใบ บัตรมาอย่างนี้ก็อ่านตามบัตร” เจ้าหน้าที่ กกต.ตอบ แล้วก็เดินหน้านับคะแนนต่อไป ในขณะที่ผู้สมัครเริ่มรู้สึกได้ว่า เหตุการณ์ชักจะไม่ธรรมดาเสียแล้ว มีการล็อกโหวตแน่นอน แต่ก็จับมือใครดมไม่ได้ จำต้องปล่อยให้การนับคะแนนดำเนินต่อไปจนจบ

เรียงลำดับผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกของการเลือกกันเองผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดคือเบอร์ 6, 21 และ 140 ได้ไปคนละ 32 คะแนน รองลงมาคือเบอร์ 24 และ 85 ได้ไปคนละ 30 คะแนน เบอร์ 17 และ 148 ได้ไปคนละ 29 คะแนน...เมื่อผลการนับคะแนนเป็นที่ยุติ ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกไปสู่การเลือกรอบไขว้

“เรากลายเป็นผู้สมัคร สว.ตกรอบ ได้ออกมาใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ แต่ยังมีความรู้สึกคันในหัวใจ จนกระทั่ง กกต.ประกาศผลเลือก สว.ในเช้าวันถัดมา เอาโพยหวยล็อกออกมาเทียบดูจึงเห็นว่า 6 เบอร์แรกที่ผ่านมาด้วยคะแนนสูงสุดในรอบเลือกกันเองช่วงเช้านั้น ได้เป็น สว.กันทุกคน”

ช่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ทั้งๆที่การแบ่งสายเลือกรอบไขว้ในตอนบ่าย ผู้สมัครไม่มีโอกาสแนะนำตัวกับคนต่างกลุ่ม มีเพียงเวลา 1 ชั่วโมงที่จะต้องศึกษาประวัติของคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน 160 คน วิญญูชนที่ไหนจะ “สแกนกรรม” กันได้เร็วขนาดนั้น ว่าใครเป็นผู้สมัครที่เหมาะสม

ต้องบอกว่า “งานดี” เกินต้านจริงๆเพราะทั้ง 6 เบอร์นั้นแพ็กกันมาแน่นตั้งแต่ในกลุ่มเลือกกันเอง แล้วพอมาถึงรอบเลือกไขว้ก็ยังสามัคคีลอยลำกันเข้าสภาได้ขาดลอย ทั้งๆที่มากันจากคนละจังหวัดคนละภูมิภาค

กระบวนการคัดเลือก สว.แบบใหม่แบบสับ (สน) แบบกล่องสุ่ม เมื่อผลปรากฏออกมา ทำให้เห็นแล้วว่ามันหลีกหนีไม่พ้นข้อสงสัยที่ว่าพวก “บ้านใหญ่” จะฮั้วคะแนน “ล็อกโหวต” คนของตัวเข้ามา? และมีการวางแผนส่งคนลงสมัครเพื่อบล็อกคะแนนแบบจับมือใครดมไม่ได้ มาตั้งแต่ต้นทางในระดับอำเภอ

และ...ทำในหลายจังหวัดกระจายกันไป

น่าสนใจว่ารูปแบบการลงคะแนนแบบที่เห็นใน “กลุ่มสตรี” เกิดกับในทุกกลุ่มอาชีพ คือมีโพยให้เลือกแคนดิเดตประมาณ 5-6 ราย ส่วนที่เหลือเป็นโหวตเตอร์ แต่คนคิดแผนอาจจะนึกไม่ถึงว่าในที่สุดแล้วเมื่อเข้ามาสู่รอบไขว้ โหวตเตอร์ที่โปรไฟล์ไม่เด่นก็มีสิทธิได้เข้าวินกับเขาเหมือนกัน

เราจึงได้เห็น “ว่าที่ สว.” ที่เขียนแนะนำตัวบรรทัดเดียว ไม่รู้ว่ามีความรู้ความสามารถหรือความตั้งใจจะเข้าไปทำอะไร

อยากถามย้อนกลับไปยังคนที่คิดค้นระบบเลือกแบบนี้ว่า “คุณยังสบายดีอยู่หรือ” กับสิ่งที่ได้ก่อกรรมไว้กับประเทศไทย คุณตั้งใจจะให้ “สภาสูง” ไม่ถูกครอบงำจากพรรคการเมือง นักการเมือง แต่ถึงวันนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า...คนมีความรู้ความสามารถถูกเขี่ยทิ้งไปตามรายทางนับไม่ถ้วน

“น่าอนาถใจ...ไทยแลนด์”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม