ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ คดี กปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เมื่อปี 57 ลดโทษจำคุก "สุเทพ-ถาวร" เหลือ 1 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยอื่นส่วนใหญ่ได้ลดโทษบ้าง-รอลงอาญาบ้าง ยกฟ้อง 19 คน 

วันที่ 27 มิ.ย. ที่ศาลอาญา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีกบฏ กปปส.ชุดใหญ่ สำนวนหลัก หมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส. รวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ

...

คดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556-1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือกลุ่ม กปปส. มี นายสุเทพ เป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำการก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง สส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส. จากนั้นจะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่างๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค.-2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน นายสุเทพ กับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัว

ต่อมาวันที่ 24 ก.พ. 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยรายสำคัญ โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าในส่วนความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏ และก่อการร้าย

แต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และจำเลยอื่นรวม 26 คน ศาลตัดสินจำคุกในความผิดฐานยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา, ร่วมกันมั่วสุม 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานผู้อื่นในเวลากลางคืน, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

พิพากษาจำคุก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเวลา 5 ปี จำคุก นายชุมพล จุลใส เป็นเวลา 9 ปี 24 เดือน จำคุก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นเวลา 7 ปี จำคุก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน จำคุก นายอิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน จำคุก นายถาวร เสนเนียม 5 ปี จำคุก นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ 4 ปี 8 เดือน และจำคุก เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ 4 ปี 16 เดือน รวมทั้งสิ้น 8 คน

จำเลยที่เหลือ ศาลเห็นว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม หรือบางคนเป็นแกนนำ แต่กระทำความผิดน้อยกว่าบุคคลอื่น และไม่เคยปรากฏพฤติการณ์รุนแรง และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ควรให้โอกาสปรับตัวเป็นคนดี จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี

ให้เพิกถอนสิทธิทางการเมือง นายชุมพล จุลใส สส.พรรคประชาธิปัตย์, นายอิสสระ สมชัย สส.พรรคประชาธิปัตย์ และ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธะอิสระ, เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์, นายสำราญ รอดเพชร และ นางทยา ทีปสุวรรณ คนละ 5 ปี ต่อมาอัยการโจทก์และจำเลย ยื่นอุทธรณ์

ภายหลังคำพิพากษา นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เผยว่าวันนี้ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษามีรายละเอียดค่อนข้างมาก คือ ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อหากบฏเเละก่อการร้าย พิพากษาลดโทษจำคุก นายสุเทพ กับพวก ที่เดิมโดนตั้งเเต่ 4-9 ปีกว่า ก็ลดกันมาเหลือคนละ 1 ปี ถึง 1 ปีเศษ เเบบ นายสุเทพ กับ นายถาวร เสนเนียม เหลือคนละ 1 ปี แต่ไม่รอลงอาญา เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษเนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเหตุต่อเนื่องกัน ต่างจากศาลชั้นต้นที่มองเป็นการกระทำหลายกรรมโทษเลยสูง โดยที่พิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญาทั้งหมด 14 คน ส่วนรายอื่นก็มีพิพากษาแก้ยกฟ้อง และมีเพิ่มโทษ จำเลยที่ไม่รอลงอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันในชั้นฎีกา ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำสั่งได้ในวันนี้เลย เรื่องจากศาลชั้นต้นสามารถสั่งเองได้ แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าจะส่งศาลฎีกาหรือไม่ หลักทรัพย์เดิมเราเตรียมๆ ไว้พร้อมเเล้ว

รายชื่อจำเลยทั้งหมดในคดี กปปส. ชุดใหญ่ในวันนี้ 39 รายประกอบด้วย

1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 2. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3. นายชุมพล จุลใส 4. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 5. นายอิสสระ สมชัย 6. นายวิทยา แก้วภราดัย 7. นายถาวร เสนเนียม 8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 9. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 10. น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 11. พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 12. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 13. นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ 14. นายถนอม อ่อนเกตุพล 15. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 16. พระพุทธะอิสระ หรือ นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ 17. นายสาธิต เซกัล 18. นางสาวรังสิมา รอดรัศมี 19. พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี 20. พลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ 21. นายแก้วสรร อติโพธิ 22. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 23. นายถวิล เปลี่ยนศรี 24. เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ 25. นายมั่นแม่น กะการดี 26. นายคมสัน ทองศิริ 27. พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ 28. นายพิภพ ธงไชย 29. นายสาวิทย์ แก้วหวาน 30. นายสุริยะใส กตะศิลา 31. นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด 32. พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์ 33. นายสำราญ รอดเพชร 34. นายอมร อมรรัตนานนท์ (เปลี่ยนชื่อบ่อย) 35. นายพิเชฐ พัฒนโชติ 36. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 37. นายกิตติชัย ใสสะอาด 38. นางทยา ทีปสุวรรณ 39. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง