ต้องใช้ความอดทน และระยะเวลานานหลายเดือน กว่าจะนำตัว ชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธาน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 1 ใน 10 ผู้ต้อง หาซึ่งสร้างมหากาพย์กลโกงประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสามทศวรรษกลับมารับโทษทัณฑ์ที่ประเทศไทยให้ได้

จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเรื่องราวนี้ในเช้าตรู่ของวันที่ 23 มิ.ย. 67 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่เครื่องบินซึ่งนำพาคีย์แมนคนสำคัญในคดีนี้ ลงแตะรันเวย์

รมต.สำนักนายกฯ เปิดเผยว่า เขาได้รับคำสั่งตรงจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ทำงานนี้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม DSI และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ควานหาตัว ชนินทร์ เพื่อนำกลับมาลงโทษร่วมกับผู้ต้องหาอีก 9 รายที่ถูกดำเนินคดีในประเทศไทยแล้วกลับมาให้ได้ 

“ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครจับพวก White Collar กลับมาลงโทษได้เลย นับตั้งแต่คดีของ บล.เอกธนกิจ เป็นต้นมา”

นายกรัฐมนตรีจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก นั่นทำให้ จักรพงษ์ ต้องเดินทางไปประเทศที่ ชนินทร์ หนีไปกบดานอยู่อย่างลับๆ สองสามครั้ง เพื่อขอให้รัฐบาลประเทศนั้นๆ ช่วยเหลือ 

“หลังจากนี้ไป เราจะได้รู้เรื่องราวทั้งหมดว่า มีใครอีกกี่คนที่เกี่ยวข้อง และ ฉ้อโกงกันอย่างไร ทำไมผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่รู้เลยว่า สตาร์ค ใช้เล่ห์กลหลอกต้มตุ๋นผู้คนจากการสร้างบัญชีรายรับปลอม จนเกิดความเสียหายสูงกว่า 14,000 ล้านบาทได้” 

ที่สำคัญ ชนินทร์ นำเงินที่ฉ้อโกงได้ ออกไปฝากยังธนาคารในต่างประเทศกว่า 8,000 ล้านบาทใช่หรือไม่ และเงินเหล่านั้นอยู่ในประเทศใดบ้าง!

...

จักรพงษ์ ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งทำให้เขาต้องผันตัวไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แทน 

แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะเขายังคงติดต่อกับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE : United Arab Emirates) อย่างใกล้ชิดต่อไป กระทั่งกระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงการต่างประเทศ ชี้เป้าได้แล้วว่า ผู้ต้องหารายนี้ หนีไปกบดานอยู่ที่นครดูไบเป็นเวลานานกว่า 8 เดือนในฐานะของนักท่องเที่ยว

เมื่อพูดถึงเงินที่นำออกไป แม้จะได้มาจากการฉ้อโกง หรือการทุจริต แต่ก็ไม่มีประเทศใดอยากส่งตัวนักการเงินเหล่านั้นในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับมา เพราะประเทศไหนๆ ก็ล้วนอยากเก็บเงินจำนานมหาศาลที่นำไปฝากไว้ในประเทศตนต่อไปด้วยกันทั้งส้ิน

การเจรจากับรัฐบาลนครดูไบ และ UAE ในประเด็นนี้ จึงกระทำภายใต้ข้อจำกัดที่รัฐต่อรัฐต้องมีความเข้าใจต่อกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน ก็คือ ความพยายามหว่านล้อม ชนินทร์ ให้กลับมาแถลงความจริงแก่นักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของตน หรือของผู้ถือหุ้น และบรรดาผู้บริหารของ สตาร์ค ในประเทศไทย 

เมื่อทางการดูไบ และ UAE ส่งสัญญาณกำหนดการเดินทางกลับของ ชนินทร์ กระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่จาก DSI จึงเดินทางไปคุมตัวเขาถึงนครดูไบ เพื่อนำเขาเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 23 มิ.ย. ตามที่เป็นข่าว

ทันทีที่ ชนินทร์ ถึงประเทศไทย พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาให้เขารับทราบว่า เขาโดนข้อหาหนักๆ ไป 6 ข้อหาด้วยกัน ในแต่ละข้อหามีหลายกรรม รวมๆ กันแล้วจัดเป็นร้อยกรรม 

เพราะความผิดที่ก่อไว้มีทั้ง ความผิดทางอาญาโดยร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, มีความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ เกี่ยวกับการลงบัญชีเป็นเท็จ, สร้างรายรับปลอม, ปกปิดความจริงในข้อมูลตราสาร, ทุจริตเสนอขายหุ้นกู้ และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง ตลอดจน มีความผิดฐานฟอกเงิน เป็นต้น

ข้อหาเหล่านี้อัยการเห็นสมควรสั่งฟ้องไปแล้ว และวันนี้ (24 มิ.ย.) ชนินทร์ ต้องถูกนำตัวไปขึ้นศาล ภายใต้ความคาดหวังว่า ศาลจะไม่ให้เขาประกันตัวเนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายมากกว่า 4,072 ราย ในจำนวนนี้มีทั้งนักลงทุนประเภทสถาบัน นักลงทุนรายย่อย และ ผู้ถือหุ้นกู้ รวมความเสียหายตามคำฟ้อง 14,778 ล้านบาท สำนักงาน ปปง.ติดตามเงินมาได้เพียง 3,000 ล้านบาท ยังต้องติดตามเส้นทางเงินที่เล็ดลอดออกจากประเทศไทยกลับมาคืนผู้เสียหายต่อไปอีก 

ส่วนมูลค่าความเสียหายจากหนี้สินของ บมจ.สตาร์ค นั้น มีมากกว่า 38,000 ล้านบาท รวมความเสียหายจริงๆ อาจจะสูงกว่า 50,000 ล้านบาททีเดียว 

สำหรับผู้กระทำความผิดชุดแรก มีอยู่ด้วยกัน 10 ราย ได้แก่ 1.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น 2.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4.นายชิน วัฒน์อัศวโภคี 5.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 6.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 7.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) 9.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 10.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียร่ิง จำกัด

ติดตามดูกันต่อไปว่า บุคคลเหล่านี้ จะชดใช้ความผิดมหาศาลที่เขาก่อขึ้นกับนักลงทุนผู้บริสุทธิ์ได้อย่างไร?

กระบองเพชร