นายกฯ เผยในรายการ “คุยกับเศรษฐา” เทปแรก เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย ยอมรับการลงทุนไม่ได้เกิดขึ้นทันที ต้องใช้เวลา แต่หลายประเทศก็สนใจลงทุนในไทย ชื่นชมผลิตภัณฑ์ของฝากจากชาวบ้าน เผยนำไปโชว์ให้ต่างชาติหลายคนก็ร้องว้าว ลั่นไม่อายภูมิใจ
วันที่ 22 มิถุนายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พูดในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในเวลา 08.00–08.30 น. ถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมีคนบอกว่าเดินทางไปเยอะมาก ไปเพื่ออะไรว่า ไม่ได้แก้ตัว แต่ว่าเรื่องของการไปต่างประเทศ จริงๆ แล้วตนเองไปมา 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นเรื่องของการไปอาเซียน-เจแปน การไปแนะนำตัว หรือว่าไปจีน หรือว่าไปกัมพูชา ไปสิงคโปร์ ไปมาเลเซีย ไปออสเตรเลีย เป็นอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปนั้นไม่ได้ หรืออย่างไปศรีลังกา เซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในรัฐบาลก่อน เรื่องของลำดับความสำคัญของเขา เขาอาจจะทำเรื่องอื่นที่เขาเห็นความสำคัญมากกว่า แต่ตอนนี้มาถึงตรงนี้ เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องของความอ่อนบางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ไปเชื้อเชิญและไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่มาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม ตนเองว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้งเป็นหมื่นล้านเป็นแสนล้าน ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่ว่าการทำงานเราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรี
...
นายกฯ กล่าวต่อว่า การประชุมกับผู้นำและภาคเอกชนเวลาไปเมืองนอกต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า เข้าใจว่าประวัติสูงสุดในประวัติศาสตร์คือที่ดาวอส ซึ่งจะมี 19 หรือ 23 วงในวันเดียว ถือว่าเยอะมาก แต่ตนเองก็ยังบอกกับทีมว่า ถ้าไปปีหน้า ถ้ามีห้องประจำของเราเองสองห้อง แล้วก็สลับเข้าสลับออก ตนเองว่า 30 วงน่าจะทำได้ ทั้งนี้ 12 ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้นำของเราไป World Economic Forum มาเลย พอเราไป คนก็ให้ความสนใจ อย่างที่ไปมาก็ AstraZeneca บริษัททำยา ซึ่งเข้าหุ้นกับปูนซีเมนต์ไทย สำหรับผลการไปต่างประเทศ โดยรวมแล้วเป็นบวกมากเพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการลงทุน บางเรื่องได้รับการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าไทย บีโอไอ และหลายๆ หน่วยงาน รวมถึงสถานทูตไทยได้เชิญชวนกันไปโฆษณาว่าประเทศไทยมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เราพร้อม Incentive จากบีโอไอ เรามีเหนือกว่าประเทศอื่น เรามีรอยยิ้ม เรามีค่าครองชีพที่เหมาะสม เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามี Health care system ที่มีมาตรฐานสูงกว่าหลายๆ ประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เขาจะย้ายถิ่นฐานมาเขามีความมั่นใจ เรื่องของการที่เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ทำให้เขาเมื่อมาลงทุนแล้วเขามั่นใจว่าที่นี่มั่นคง
นายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการทูตของไทยว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศมาจากการลงทุน จาก EU หรือจากออสเตรเลีย หรือจากจีน หรือจากสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศอยากมาลงทุนประเทศไทย ถึงแม้จะมีคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที เพราะเขามั่นใจว่าประเทศไทยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่าย ถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้น ฐานผลิตของเขา Supply chain ของเขาไม่ถูกขัด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาที่ไปทำไมเราจึงอยากเป็น Aviation Hub ขยายสนามบินสุวรรณภูมิจาก 60 ล้านคนกลายเป็น 150 ล้านคน สร้างเทอร์มินอล สร้างรันเวย์เพิ่ม แลนด์บริดจ์ทำไมเราจึงอยากมีแลนด์บริดจ์ ในการขนส่ง ไม่ใช่แค่ประหยัดระยะทางที่ลงไปช่องแคบมะละกาอย่างเดียว หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ในอนาคตถ้าเกิดมีคู่ขัดแย้งเยอะ แล้วประเทศที่ควบคุมโลจิสติกส์การเดินทางทั้งหลาย ไม่เป็นกลาง ใครทะเลาะกับใคร ใครจะเข้าข้างใครก็ทำให้เส้นทางการขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรเสียเขามั่นใจว่าการดูแลการขนถ่ายสินค้าของทุกๆ ประเทศจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ตนเองเชื่อว่าการตัดสินใจมาลงทุนของเขา ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น
นายกฯ ระบุว่า การเดินทางไปต่างประเทศไปเพื่อแนะนำตนเอง และที่สำคัญคือนำมาซึ่งความมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย จากการลงทุนที่ต่างชาติเขาจะมาขยายการลงทุนที่ประเทศไทย แต่ว่าทุกๆ อย่างใช้เวลา อย่างเช่น เราจะ Move จากอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อยไปสู่อุตสาหกรรมกำไรสูง Low tech เป็น High tech Industry ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว ต้องมีวิธีการหลายๆ อย่าง เช่น การตัดสินใจในการซื้อ พื้นที่ งบลงทุน อะไรต่างๆ นานา ตนเองเชื่อว่ามีอะไรต้องทำควบคู่กันไป โดยเร็วๆ นี้จะประชุมกับรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่องของการที่เราจะต้องยกระดับ Skillsets ของ Worker ไทย เรื่องของการที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยมี Arrangement กับบริษัทยักษ์ใหญ่ มี Training program แทนที่จะเทรนกันแค่สามเดือน เขาขอร้องให้ อว. ออกมาเลย เทรนมาเลย 9 เดือน ปีหนึ่ง แล้วก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Curriculum (หลักสูตร) ด้วย เวลาจบไปก็จะได้ทำงานต่อได้เลย ทีนี้ก็พยายามพูดคุยกันต่อ มีเรื่องของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราต้องคุยกันเยอะ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงของฝากจากประชาชน ในการลงพื้นที่ว่า ส่วนมากเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปะต่างๆ อย่างเช่น ไปเพชรบุรีมา ประชาชนให้ผ้าพันคอเป็นผ้าเพ็ชรราชวัตร คล้ายๆ ผ้าลินิน สวยมากสวยจริงๆ ทุกคนเห็นแล้วร้องว้าวหมด
อีกทั้ง ยังมีผ้าดอนกลอย เมื่อครั้งที่ตนเองไปฝรั่งเศสกับอิตาลีได้นำไปแจก และทำมาแจกทูตานุทูตทั่วประเทศ ซึ่งตนเองได้ไปดูวิธีการย้อม คือจริงๆ แล้ว ครามใช้เป็นใบย้อมออกมาทีแรกก็เป็นสีเขียวพอสะบัดๆ ก็กลายเป็นสีน้ำเงินเหมือนกางเกงยีนส์ เมื่อเดือนที่แล้วไป ZEGNA มาไปอิตาลีมาไปเจอกับ CEO ก็นำของไปให้เขาดูมีหลายๆ อย่าง โดยได้บอกเขาว่าเราอยากจะผลักดัน เขาก็บอกยินดี
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ยังมีผืนที่ไปผูกให้กับท่านประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสีธงชาติฝรั่งเศสเหมือนธงไทยแดงขาวน้ำเงิน ถือว่าฝรั่งเศสเป็นเมืองแห่งแฟชั่น อย่างน้อยเราก็มีความภาคภูมิใจ ไม่ได้อายอะไร ผูกด้วยความภาคภูมิใจ
นายกฯ ระบุว่า นอกจากผ้าพันคอ ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋ากระจูดรายา จากนราธิวาส ซึ่งจำได้ที่ฝรั่งเศสกำลังจะไปประชุมพอดี นำเอาผ้าขาวม้ามาพาดแล้วดูเก๋เท่ ทำให้ทุกคนสนใจมาก
พร้อมย้ำว่า ทั้งหมดเป็นผ้าที่ชาวบ้านให้ ไม่ได้ไปแอบซื้อ พอกลับมาแต่ละที่ ก็จะเลือกเก็บไว้ให้มีความหลากหลาย บางชิ้นก็ซ้ำเพราะว่าหมู่บ้านเดียวกันสีคล้ายๆ กันมาก ก็จะเลือกสีเด่นๆ ออกมา นำไปใช้ นำไปโชว์ให้ต่างประเทศเห็นถึงความสวยงาม ผลักดันสินค้าจากฝีมือของชาวบ้านให้ต่างชาติได้เห็น