“นายกฯ นิด” ถกรัฐมนตรี ผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือน้ำท่วมน้ำแล้ง ยกเป็นวาระแห่งชาติ ต้องเตรียมพร้อมอย่างมีเอกภาพ การแจ้งเตือนต้องชัดเจนแม่นยำ สั่งตั้งศูนย์ฉุกเฉินบริการประชาชน ด้าน สทนช. รับ อาจมีน้ำท่วมบ้าง 

วันที่ 20 มิถุนายน 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์และพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ผ่านมา โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะตัวแทนผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ธนะศักดิ์ ชื่นอิ่ม รองปลัดกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

...

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีรับฟังการรายงานรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และแนวโน้มสถานการณ์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ รวมถึงแผนการดูแลและช่วยเหลือประชาชน จากนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนได้เคยเชิญประชุมบริหารจัดการน้ำเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมรับมือน้ำทั้งประเทศ วางแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงบรรเทาผลกระทบให้น้อยที่สุด บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปัญหาบางอย่างอาจจะแก้ไขยาก อาจจะดำเนินการในหน่วยงานเดียว แต่ถ้าประสานงานร่วมมือกันประสิทธิภาพก็จะเพิ่มขึ้น 

นายเศรษฐา กล่าวต่อไปว่า โครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 หลายๆ โครงการมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เช่น โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โครงการพัฒนา 72 สายน้ำที่ยั่งยืน ตลอดจนการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบาย เกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้อยู่ดีกินดี โดยวันนี้อยากขอติดตามและรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการแก้ไขความพร้อมและแนวทางช่วยเหลือประชาชนในการประเมินปัญหาเรื่องน้ำ อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนวางกรอบเวลาที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่มีคุณภาพ รัฐบาลพร้อมที่สนับสนุนเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีสอบถามถึงเรื่องการกักเก็บน้ำ ระบายน้ำที่ จ.อุบลราชธานี และความเสี่ยงของน้ำแล้ง พร้อมกับสอบถามด้วยว่าในปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ในพื้นที่ไหน ทางด้าน นายสุรสีห์ กล่าวยอมรับว่าท่วม ซึ่งน้ำท่วมฉับพลันมีแน่นอนอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครน่าจะมี เนื่องจากปัจจุบันสภาพอากาศแปรปรวนในเรื่องความเข้มของฝน ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบบการระบายน้ำสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมาบางครั้งความเข้มเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หรือบางช่วงถึง 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเกิดน้ำขังรอการระบาย และพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ มีแนวโน้มที่จะท่วมอย่างแน่นอน และในช่วงฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ จึงมีแนวโน้มที่จะท่วม แต่เราได้มีการเตรียมการและบริหารจัดการทุกรูปแบบ เพราะถ้าไม่ทำก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมในปริมาณมาก และอาจเป็นช่วงระยะเวลายาว เราวางมาตรการรับมือไว้ในบางพื้นที่ที่อาจจะท่วม ซึ่งเมื่อมีการป้องกันก็อาจจะไม่ท่วมได้ รวมถึงบางพื้นที่มีแนวโน้มอาจจะท่วมมาก แต่ก็อาจจะทำให้ท่วมน้อยลงหลังจากที่เราดำเนินมาตรการต่างๆ ที่วางไว้

ขณะที่ นายชัชชาติ กล่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ไขจุดต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายไว้แล้ว โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ดำเนินการไปเกือบครบถ้วนแล้ว ทั้งขุดลอกคูคลอง ลอกท่อ เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนที่ต้องขอสนับสนุนคือ ขอสนับสนุนกองทัพเรือเรื่องเครื่องผันน้ำ จึงขออนุญาตประสานกองทัพเรือต่อไป และในเรื่องของกรมชลประทาน ขอให้ช่วยระบายน้ำคลองรังสิตและเขตประเวศ ซึ่งที่ผ่านมาฝนตก ทางกรมชลประทานช่วยกรุณาระบายน้ำออกทำให้ลดระดับน้ำลงได้ และอีกส่วนคือกรมทางหลวง ที่มีพื้นที่บริหารที่ยังทำคูระบายน้ำไม่เสร็จในจุดวิภาวดี ก็จะเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่กรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือดีมาก เรื่องการลอกท่อ ต้องขอชื่นชม

จากนั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวเสริมว่า เราได้ถอดบทเรียนทุกปีของสถานการณ์น้ำ ซึ่งเห็นว่ายังไม่ได้เตรียมเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงอยากรบกวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกัน เพื่อตั้งศูนย์บริหารบริการสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกๆ ภาคด้วย ต่อมา นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวอีกว่า ศูนย์ส่วนหน้าทำงานมา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา ดังนั้นเราควรมาพูดกันว่าตรงไหนไม่เวิร์ก แล้วตรงไหนต้องแก้ไขปัญหาบ้าง ส่วนข้อเสนอของ ร.อ.ธรรมนัส โดยหลักการให้ทุกกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติตามด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเห็นด้วยที่ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติ ต้องวางแผนอย่างรอบคอบในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งขณะนี้การเข้าฤดูฝน 3 เดือนระยะสั้นนี้ให้เน้นการทำงานที่มีเอกภาพ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เรามาทำงานร่วมกันหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้าใจว่าน้ำท่วมมีทุกปี แต่ต้องทำให้น้อยที่สุด เอาที่สามารถทำได้ ต้องยอมรับว่าเราทำได้ดีกว่านี้และทำงานร่วมกันให้ดีขึ้น มองปัญหาอนาคต อย่างที่จังหวัดอุบลราชธานี การพยากรณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ถือเป็นส่วนสำคัญ เราต้องทำงานร่วมกันให้มีเอกภาพ ถ้าเกิดปัญหาก็ต้องช่วยเหลือกันไป 

“จริงๆ แล้ววันนี้ต้องขอบคุณที่สละเวลากันมา ได้ข้อคิด หลักการทำงานที่จะต้องเดินต่อไป ขอสรุปสั้นๆ ข้อสั่งการ ให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์น้ำ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ทุ่งลำน้ำ พื้นที่ลุ่มจุดเกิดน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ให้เกิดน้ำเน่าเกิดขึ้น พื้นที่เศรษฐกิจชุมชนเมืองต้องป้องกันน้ำเข้า ห้ามเกิดน้ำไหลท่วมฉับพลัน ต้องมีแผนเร่งระบายน้ำ หน่วยงานจะต้องเข้าร่วมกันดูแลอย่างเป็นเอกภาพ วางแผนบูรณาการให้ดี เรื่องเคลียร์ทางน้ำวัชพืชที่ทำให้เกิดความตื้นเขิน ซึ่งเคยคุยกับ รมว.กลาโหม และกองทัพ ในประสิทธิภาพการช่วยเหลือตรวจเช็กความแรงของเขื่อนกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ รวมถึงการเตือนภัยของกรมอุตุฯ ต้องชัดเจนแม่นยำ เพราะอันตรายจะมาได้ถ้าไม่มีการแจ้งเตือน” 

นอกจากนี้ ยังต้องดูถึงผลผลิตการเดือดร้อนของเกษตรกรด้วย รวมถึงแผนการช่วยเหลือประชาชนหากมีน้ำท่วมเกิดขึ้น ซึ่งปีนี้เราคิดว่าจะไม่มี แต่แน่นอนเราต้องมีความพร้อม เตรียมเรื่องของเรือ เวชภัณฑ์ และต้องขอบคุณทุกหน่วยงานรัฐ ราชการต่างๆ หน่วยความมั่นคง ที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะ ที่ผ่านมาอย่างที่ทราบกันดี รองนายกรัฐมนตรีบอกปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งต้องดูเรื่องบูรณาการและแผนระยะยาว และเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเราคุยกันในช่วง 4-5 เดือนข้างหน้านี้ก็ต้องแก้ไขปัญหาด้วย ขอให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสานงานกันอย่างดี.

(ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์)