“จุลพันธ์” รมช.คลัง แจง “ปารมี” สส.ก้าวไกล ปมงบประมาณ 2568 ของ กยศ. ชี้ แม้จะดูตึงตัว แต่จัดสรรเพียงพอ ย้ำ ปีนี้ทั้ง 6 แสนกว่าราย จะต้องได้รับการกู้ยืม รับ ยังไม่มีแผนปรับแก้กฎหมาย หวัง ให้ผู้กู้ได้ประโยชน์
เมื่อเวลา 10.19 น. วันที่ 20 มิถุนายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ขอชี้แจงและตอบการอภิปรายของ นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระแรก ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวงการคลัง คือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า คำของบประมาณครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากมีการปรับแก้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีผลบังคับใช้ราวเดือนมีนาคม 2566 การปรับโครงสร้างครั้งนี้ ตนในฐานะกำกับดูแล กยศ. ตามที่รัฐมนตรีว่ากากรระทรวงทรวงการคลังมอบหมาย เหมือนเป็นช่วงปรับตัวให้เข้ากับ พ.ร.บ.ใหม่ มีการของบประมาณมา 19,000 ล้านบาท จากการหารือร่วมกันระหว่างสำนักงบประมาณ ดูแล้วสามารถบริหารจัดการได้ ภายใต้กรอบเงินที่ยังคงเหลืออยู่ในกองทุน รวมถึงเงินอินโฟลว์ อาทิ รับเงินจากลูกหนี้ คือนักเรียนนักศึกษาที่จบไปแล้ว และการบริการจัดการอื่นๆ สามารถบริหารจัดการได้ในกรอบที่จะรับเงินเพิ่มเติมอีก 800 ล้านบาท
...
ทั้งนี้ ด้วยกลไกของรัฐ หากกรณีมีงบประมาณแล้วทำท่าว่าจะไม่พอ ยังไม่มีกลไกอื่นๆ รองรับ เช่น ช่องทางของงบกลาง หรือว่ากลไกอื่นใดจะสามารถรองรับและยืนยันได้ว่า จะไม่มีนักเรียนนักศึกษาหลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่สามารถกู้ยืมจาก กยศ.ได้ เรายังตั้งเป้าการกู้ยืมที่ราว 620,000 ราย เป็นกลุ่มนักเรียนเก่าประมาณ 75% และอีก 25% เป็นกลุ่มใหม่ ซึ่งในเรื่องการปรับตัวมีการหารือกันพอสมควรในช่วงที่มี พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ต้องเข้าใจว่าฉบับใหม่นั้น เบี้ยปรับจาก 8% เหลือ 0.5% ห้ามฟ้อง เอาคนค้ำประกันออก ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันแรกที่กู้จนชำระคืนวันสุดท้าย
“วันนี้หลังจากมีการคำนวณใหม่ เบื้องต้นที่ทำมาแล้ว ผมเข้าใจว่า กยศ. ยังค้างเงินที่ต้องคืนให้กับนักศึกษาหลายรายเป็นพันล้านบาท เพราะเราคำนวณแล้วเขาจ่ายเกินมา เราก็ต้องคืนให้เขา แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบการบริหารจัดการทางการเงินที่เราสามารถบริหารจัดการได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มันเกิด Moral Hazard ขึ้นมาเล็กๆ เพราะว่าวันนี้ กยศ. กลายเป็นเป้าสุดท้ายที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้กู้ไปจะมาคืน เพราะอย่างไรก็ไม่โดนฟ้อง ค้ำประกันก็ไม่มี ดอกเบี้ยก็ถูกที่สุด เทียบกับหนี้สินในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต หนี้บ้าน เขาก็ไปชำระในส่วนอื่นก่อน ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการพอสมควร”
นายจุลพันธ์ ระบุต่อไปว่า ขณะนี้เรายังไม่มีแนวคิดที่จะปรับแก้กฎหมาย เพราะเป็นมติจากที่ประชุมรัฐสภา ที่ให้ความเห็นชอบในสมัยที่แล้ว เราจึงมีภาระที่ต้องรับโจทย์นี้มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นประโยชน์กับผู้กู้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษา แต่สิ่งที่มอบนโยบายไว้กับผู้จัดการ กยศ. รวมถึงส่วนงานที่เกี่ยวข้อง คือ วันนี้เราไม่มีกระบอง เราก็หากลไกในการจูงใจให้มาชำระ เป็นผู้กู้ที่ดีของ กยศ. วันนี้เรากำลังพูดคุยกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารของรัฐอื่นๆ เช่น ถ้าชำระดีกับ กยศ. จะถือเป็นลูกค้าเอลิสต์ (A List) ธนาคารอื่น เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะมีโอกาสได้รับเงินกู้มีมากขึ้น ง่ายขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนลง เราพยายามสร้างกลไกเพื่อหาวิธีการให้ กยศ. อยู่ได้อย่างมั่นคง
“ยืนยันนะครับ ด้วยงบประมาณเพียงแค่นี้ ถึงแม้ว่ามันจะดูตึงตัว แต่การจัดสรรงบประมาณเราจัดแต่เพียงพอดี ไม่มีที่จะถมเงินเข้าไปที่กองทุนใดกองทุนหนึ่งแล้วให้เขาเหลือเงินในปีนั้นเป็นพันเป็นหมื่น (ล้าน) เราจะไม่ทำ เพราะว่างบประมาณทุกบาททุกสตางค์ต้องเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงที่สุด ในกรณีที่มันไม่พอขึ้นมา มีกลไกรองรับ และยืนยันว่าในปีนี้ทั้ง 6 แสนกว่าราย จะต้องได้รับการกู้ยืม” และจบการชี้แจงในเวลา 10.24 น.