"สมศักดิ์" ตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปลื้มเดินหน้าพัฒนานวัตกรรม-เทคโนโลยี-เครื่องมือแพทย์ ครบวงจร หนุนทำข้อมูลวิทยาศาสตร์ รับรองสมุนไพรไทย หวังสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมส่งเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ หลังพบตลาดสมุนไพรโลกสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 67 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมี นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมต้อนรับ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากที่ตนได้รับฟังรายงานสรุปภารกิจหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถือว่า มีงานที่ต้องขับเคลื่อนกว้างขวางมาก และตรงกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่อยากขับเคลื่อน เช่น Medical Hub Wellness Hub ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการขับเคลื่อนงานไปบางส่วนแล้ว จึงทำให้เห็นตัวเลขชัดเจน เช่น การส่งเสริมสมุนไพร โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสมุนไพรในประเทศไทย สูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าการค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก 1.7 ล้านล้านบาท แต่สถานการณ์ปัจจุบัน สมุนไพรยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับแพทย์แผนปัจจุบัน ตนจึงพร้อมสนับสนุนให้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รับรอง เพื่อความน่าเชื่อถือด้วย
"ผมคิดว่า แพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย และแพทย์ทางเลือก เป็นงานที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำไว้ได้เร็ว แต่ยังขาดข้อมูลรองรับบางส่วน เช่น พืชกระท่อม หลังปลดล็อก ก็ยังไม่มีข้อมูลวิจัยรองรับ และยังไม่รีบดำเนินการ จนทำให้กลายเป็นของเสีย ที่พบว่า มีมือดีเอากระท่อม ไปผสมกับยาแก้ไอ ผมจึงอยากให้ช่วยกันทำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับด้วย นอกจากนี้ ผมยังอยากสนับสนุนโรงงานผลิตวัคซีนด้วย เพราะงบประมาณที่สร้างโรงงานผลิตวัคซีน ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งถ้าผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขาย ใน 1 ปี ก็มีมูลค่าสูงกว่าค่าก่อสร้างแล้ว ผมจึงอยากผลักดันเรื่องนี้ด้วย" รมว.สาธารณสุข กล่าว
...
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ตนยังได้รับฟังแผนการพัฒนางานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น เทคโนโลยีจีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำ ที่เริ่มต้นตั้งแต่การคัดกรองทารกแรกคลอด ด้วยการวินิจฉัย และรักษาโรคพันธุกรรม, การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันและควบคุมวัณโรค โดยจะมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันวัณโรค mRNA เพื่อเป็นทางออกในการกำจัดวัณโรคของประเทศ, การพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง ATMPs, และการพัฒนาศูนย์เครื่องมือแพทย์ระดับชาติ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์อย่างครบวงจร โดยตลาดเครื่องมือแพทย์ของประเทศ คาดการณ์ว่า จะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าจำหน่ายในประเทศเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และมีมูลค่าการส่งออกเติบโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ตนจึงพร้อมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และสิ่งที่มีประโยชน์ทางด้านการแพทย์อย่างเต็มที่