“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” (ทช.) เน้น ปลูกจิตสำนึก ประชาชนไทย “วันเต่าทะเลโลก” รณรงค์รักษาทรัพยากรทางทะเล “พัชรวาท” รมว.ทส.ห่วงปัญหาพลาสติกในทะเล สั่ง ใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ให้รวดเร็วและปลอดภัย
วันที่ 19 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “วันเต่าทะเลโลก” (World Sea Turtle Day) ตรงกับวันที่ 16 มิ.ย ของทุกปี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเต่าทะเล ปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนร่วมอนุรักษ์เต่าทะเล รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้ ในน่านน้ำไทย พบเต่าทะเลมากถึง 5 ชนิด ได้แก่ เต่าตนุ (Chelonia mydas) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata) เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) และ เต่าหัวค้อน (Caretta caretta) โดยปัจจุบันเต่ามะเฟืองได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน ส่วนเต่าทะเลอีก 4 ชนิด อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
...
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า เต่าทะเลคือหนึ่งในประชากรที่มีแนวโน้มจะถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้น โดยปัญหาหลักเกิดจากขยะและเศษพลาสติกที่หลุดลอยอยู่ในท้องทะเล ทำให้สัตว์ทะเลอาจกินเข้าไปจนถึงแก่ชีวิต อีกทั้งเกิดจากเครื่องมือการทำประมง และจากภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ ตน ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและปลอดภัยในการสำรวจ พร้อมให้ผสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อเร่งศึกษาการวิจัยเรื่องเต่าทะเลในประเทศฯ โดยเฉพาะเต่ามะเฟืองที่ใกล้จะสูญพันธุ์จากโลก ในโอกาสนี้ ขอฝากถึงพี่น้องประชาชน และชาวประมง ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ในอนาคตคนรุ่นต่อไปอาจจะไม่พบเจอสัตว์เหล่านี้
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯได้ติดตามและเก็บข้อมูลการวางไข่ของเต่าทะเลไทยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561–2566 พบว่าการวางไข่ของเต่าตนุ และเต่ากระมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนเต่าหญ้ามีแนวโน้มลดลงพบการวางไข่น้อยมาก ซึ่งหากพบการวางไข่จะมีเพียง 1–2 รังต่อปี ส่วนเต่ามะเฟืองถึงจะมีแนวโน้มการวางไข่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บางปีก็จะไม่พบการวางไข่ เนื่องจากแม่เต่ามะเฟืองจะกลับมาวางไข่อีกครั้งหลังจากวางไข่ไปแล้วในช่วง 3–5 ปี ทั้งนี้พื้นที่การวางไข่ของเต่าตนุและเต่ากระ พบวางไข่ทั้งบนชายหาดของแผ่นดินใหญ่และชายหาดของเกาะ ต่างๆ ทั้งทางฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ส่วนพื้นที่การวางไข่ของเต่ามะเฟืองและเต่าหญ้าจะพบวางไข่ เฉพาะชายหาดบนแผ่นดินใหญ่ทางฝั่งทะเลอันดามันเท่านั้น
ณ ขณะนี้ นานาประเทศได้ให้ความสําคัญกับเต่ามะเฟือง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมี แหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก จํานวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัว ในการนี้ กรม ทช. ได้จับมือองค์กรอัพเวลล์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากแคลิฟอร์เนีย เพื่อศึกษาเส้นทางการเดินทางของเต่ามะเฟือง โดยได้ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณระบุตําแหน่งผ่านดาวเทียมขนาดเล็กบนหลังเต่ามะเฟืองจากการอนุบาลที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จังหวัดภูเก็ต จำนวน 11 ตัว ผลจากการติดตามสัญญาณผ่านดาวเทียมแสดงถึงเส้นทางการเดินทางและพฤติกรรมการดำน้ำ
"พบว่า เต่าบางตัวอยู่ใกล้จุดปล่อย ขณะที่บางตัวเดินทางไปทางตะวันตกสู่หมู่เกาะอันดามัน และดูเหมือนจะวนเวียนอยู่ในวงแหวนมหาสมุทร และอีกตัวหนึ่งเดินทางไปทางใต้สู่เกาะสุมาตรา ข้อมูลที่ได้ทำให้เข้าใจในเส้นทางการเดินทางของเต่ามะเฟืองหลังจากปล่อยจากบ่ออนุบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนมาตรการในการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองต่อไป
สุดท้ายนี้ อยากเชิญชวนทุกภาคส่วนหันมาสนใจการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมช่วยกันเป็นกระบอกเสียงรณรงค์การไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล นอกจากนี้หากใครพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นให้รีบแจ้งมายังกรม ทช. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและฟื้นฟูสัตว์ทะเลเหล่านี้ หรือแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362 “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”