"จุลพันธ์" รมช.คลัง รับ ทักท้วงปมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซื้อ "สมาร์ทโฟน" คาด 1-2 สัปดาห์คณะกรรมการฯ พิจารณาได้ข้อสรุป หลังนายกฯเป็นห่วงเรื่องนี้

เมื่อเวลา 10.10 น. วันที่ 18 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี สั่งให้ทบทวนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซื้อสมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ว่า ตนและนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เคยทักท้วงประเด็นนี้ไป เพราะอยากจะให้เป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก แต่มีข้อจำกัดในการปฏิบัติจริงบางส่วน ทั้งเรื่องร้านค้าบางร้านขาย และของอีกหลายประเภท ซึ่งเป็นข้อกังวลจากผู้ปฏิบัติจริง กระทรวงพาณิชย์เลยเสนอมาที่คณะอนุกรรมการกำกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สุดท้ายมีมติยืนตามเดิม

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า นายกฯค่อนข้างห่วงเรื่องนี้ เพราะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นกลไกที่ต้องการให้มีการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการผลิตและการจ้างงานในประเทศเป็นหลัก จึงให้ทบทวนซึ่งกลไกในการทบทวนไม่เพียงแค่ตนเท่านั้น แต่ต้องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยได้ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการฯทบทวนแล้ว และให้ส่งเรื่องกลับมาอีกครั้ง ส่วนข้อสรุปคาดว่าอีก 1-2 สัปดาห์ และจะมีการนัดประชุมปลายสัปดาห์หน้า

เมื่อถามถึงแหล่งเงินที่จะใช้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสอบถามกฤษฎีกาเมื่อใดนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เมื่อถึงเวลา มั่นใจว่าทัน และดูกรอบเวลาอยู่ เพราะยังไม่มีข้อกังวล จึงยังไม่ได้สอบถาม ซึ่งยังไม่ได้คิดแผนรองรับหากไม่ได้เงินจาก ธ.ก.ส. เนื่องจากตอนนี้ใช้ 2 แหล่ง คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แต่ต้องดูความเหมาะสม องค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการลงทะเบียนนำมาประกอบกันด้วย ทั้งนี้ การจะใช้เงิน ธ.ก.ส. ต้องจ่ายผ่านช่องทางบัญชีของเกษตรกร ซึ่งคนเป็นเกษตรจะได้รับ ก็ต้องมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ

...

เมื่อถามถึงกรณีหุ้นตกต่ำสุดในรอบ 14 ปี จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างไรนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่ามาจากปัจจัยการเมืองด้วย ซึ่งกระทบต่อตลาดหุ้น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเดือนนี้มี 3-4 คดีใหญ่ แต่ไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน เพราะฉะนั้นสภาพตลาดยังคงความแข็งแกร่ง รวมถึงกลไกของรัฐบาล ได้ผลักดันการลงทุนต่างประเทศ การพัฒนาคุณภาพแรงงาน เชื่อว่าทั้งหมดจะสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดพื้นฐานได้

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่วันเรื่องที่เกิดความลังเลและสงสัยของตลาด สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เองจะมีความกระจ่างชัด เชื่อว่าตลาดจะกลับมาสู่ภาวะปกติ ย้ำว่าเป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการออกมาช่วยภายหลัง