รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ชี้ อัตราหนี้เสียภาคการผลิตเพิ่มสูงขึ้น การใช้จ่ายสินค้าและบริการลดลง จี้รัฐเร่งแก้ไข อุดรูรั่วภาคอุตสาหกรรม พร้อมออกนโยบายช่วยเหลือเร่งด่วน หวั่นภาคอุตสาหกรรมไทยถดถอย กระทบการจ้างงาน หลังค่ายรถยนต์ยุติการผลิตในไทย

วันที่ 14 มิถุนายน 2567 นายวรวุฒิ โตวิรัตน์ รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีโรงงานอุตสาหกรรมของไทยมีการปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 อยู่ที่ 57 โรงงานต่อเดือน ปี 2565 อยู่ที่ 83 โรงงานต่อเดือน และยังคงมีอัตราการปิดตัวลงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มีโรงงานปิดตัวไปอีก 159 โรงงานต่อเดือน ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 มีโรงงานปิดตัวลงไปแล้วกว่า 1,700 แห่ง 

สาเหตุหลักในการปิดตัวครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าเกิดจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคอุตสาหกรรมลดลง เกิดเป็นปัญหารุนแรง โดยเฉพาะอัตราการเกิดหนี้เสียในภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จึงนำไปสู่ความจำเป็นในการปิดโรงงาน รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงและทดแทนกันทางเทคโนโลยี และการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศในไทย ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มลุกลามมาสู่อุตสาหกรรมที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเริ่มมีค่ายรถยนต์อย่าง Suzuki Subaru ยุติการผลิตในประเทศไทยตามยอดขายที่ลดต่ำลง

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า จากปัญหาอัตราการปิดตัวลงของโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงกับการจ้างงานกว่า 42,000 ตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทางตรงกับเศรษฐกิจไทย ทั้งชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายสินค้าและบริการลดลง จึงมีผลทำให้เกิดการชะลอตัวของวงจรเศรษฐกิจ

...

ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมโดยทันที และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ยังจำเป็นต้องทำ ควบคู่ไปกับการหาเครื่องยนต์ใหม่มาทดแทนเครื่องยนต์เดิมของเศรษฐกิจที่หายไป รวมถึงการออกนโยบายดูแลผู้ว่างงาน จากผลกระทบการปิดตัวของโรงงาน ก่อนเศรษฐกิจไทยจะมีศักยภาพการเติบโตต่ำถดถอยลงไปเรื่อยๆ และไร้ความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค