ประธาน กสทช. ซัด รายงาน กมธ.ไอซีที วุฒิสภา บิดเบือนกฎหมาย ข้อเท็จจริง ทำหนังสือถึง ปธ.วุฒิสภา เตือน อย่าหลงเชื่อ อาจก่อความเสียหายร้ายแรง ย้ำคุณสมบัติครบ แจงทุกประเด็น ไม่ได้เป็นกรรมการเอกชนและมหาวิทยาลัย
วันที่ 12 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้ทำหนังสือถึง ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 เพื่อขอให้พิจารณายับยั้งและตรวจสอบการใช้อำนาจของประธานกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยยืนยันว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล มีลักษะปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นศาล หรือเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปด้วยอคติและไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
"คณะกรรมาธิการฯ สรุปเอาเองโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ แล้วเสนอให้ประธานวุฒิสภา นำกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะเป็นการนำความเท็จขึ้นกราบบังคมทูล อันจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนมิอาจจะแก้ไขได้"
ประเด็นดังกล่าว สืบเนื่องจาก ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ อดีตรองเลขาธิการ กสทช. และเคยพลาดหวังตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้ทำหนังสือขอให้วุฒิสภาตรวจสอบคุณสมบัติประธาน กสทช. ว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ ยังเคยได้รับการสนับสนุนโดย 4 กสทช. ซึ่งไม่ลงรอยในการบริหารกับ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ และต่อมามีการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค
...
กระทั่งคณะกรรมาธิการฯ ทำหนังสือ "รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบคุณสมบัติประธาน กสทช." ไปถึงประธานวุฒิสภา เมื่อ 4 มิถุนายน 2567 อ้างว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ มีลักษณะต้องห้ามจริง อาทิ การเป็นพนักงาน รพ.รามาธิบดี และเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ
ประธาน กสทช. ยืนยันว่า เมื่อพิจารณาข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 78 วรรคสอง (17) ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ แล้ว ไม่ได้กำหนดเรื่องการตรวจสอบบุคคล หรือคุณสมบัติของบุคคลแต่ประการใด
"ดังนั้น การรับเรื่องจาก ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ จึงเป็นการจงใจขยายอำนาจหน้าที่ตนเอง และก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา"
ส่วนในประเด็นที่อ้างว่า ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ยังคงประกอบวิชาชีพแพทย์ที่ รพ.รามาธิบดีนั้น ข้อเท็จจริงคือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ไม่มีสถานะเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของโรงพยาบาลรามาฯ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง กสทช. นอกจากนี้ ยังได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่ง และเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นที่มีส่วนได้เสีย หรือมีประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช.
ประธาน กสทช. ยังชี้แจงกรณีที่รายงานของคณะกรรมาธิการฯ อ้างว่า ได้ยินยอมให้แต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ ทั้งที่ความจริงคือได้ปฏิเสธการรับตำแหน่ง และไม่เคยปฏิบัติงานเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพแต่อย่างใด แต่กรรมาธิการฯ จงใจที่จะบิดเบือนสรุปกล่าวหาว่ากระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 18 ขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งความจริงแล้วตำแหน่งกรรมการธนาคารก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขต้องห้ามของกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น จึงเห็นถึงเจตนาที่ไม่สุจริต มีอคติ บิดเบือนเพื่อยัดเยียดความผิดให้ประธาน กสทช. อย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ยังมีข้อกล่าวหาช่วงที่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ สมัครเป็น กสทช. มีตำแหน่งเป็นรองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่องรามาแชนแนล จึงมีลักษณะต้องห้าม ตรงนี้ก็เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน
ความจริงคือฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยอธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี อีกทั้งตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายสวัสดิการและกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ฯ ก็ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแบบบอกรับสมาชิก "ช่องรามาแชนแนล" และมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไม่ใช่นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นการจับแพะชนแกะโดยไม่สุจริตเพื่อกล่าวหาเท่านั้น