ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา ยัน รฟม.ดำเนินการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ครั้งที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จบมหากาพย์คดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

วันที่ 12 มิ.ย. 2567 เมื่อเวลา 13.15 น. ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นให้ บีทีเอส เสียหาย

โดยศาลให้เหตุผลว่า จากการพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง กำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด อีกทั้ง มติของ คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และเพิกถอนประกาศการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ. 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.มีประกาศดังกล่าว นั้น หรือมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม.ในการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ ในการคัดเลือกเอกชน เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการและดำเนินการ ภายในของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองทั่วไป คือ ประกาศเชิญชวนฉบับที่พิพาทในคดีนี้ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของ บีทีเอส ที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. ที่เกี่ยวข้องเพื่อออกประกาศเชิญชวนที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จึงพิพากษายืนศาลปกครองกลาง

...


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ จะทำให้ รฟม.สามารถเซ็นสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีอีเอ็ม) ในฐานะผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐได้ภายในปีนี้