โฆษกมหาดไทย ชวนเที่ยวงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ 12-18 มิ.ย.นี้ จังหวัดศรีสะเกษ คาด มีทุเรียนภูเขาไฟออกสู่ตลาด 11,958 ตัน อาจสร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท
วันที่ 11 มิถุนายน 2567 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2567 จังหวัดศรีสะเกษ มีกำหนดจัดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี 2567” ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงาน ซึ่งมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การออกร้านของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟจากอำเภอต่างๆ และยังมีผลไม้ ผลผลิตทางการเกษตรจากสวนเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง สินค้าวิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ของ Young Smart Farmer ส่วนผู้สนใจจะทำธุรกิจกับเกษตรกร ภายในงานมีพื้นที่สำหรับการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการในจังหวัดศรีสะเกษกับผู้ประกอบการด้วย และยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการแสดงจากศิลปินชื่อดังตลอดงาน 7 วันด้วย
“เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟ เป็นงานที่จังหวัดศรีเกษจัดต่อเนื่องมาหลายปี เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้ขายสินค้าทั้งทางหน้าร้านและแบบออนไลน์ เปิดพื้นที่ในการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น เนื่องจากในงานมีกิจกรรมโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว การแสดงศิลปวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่น แปลงทุนวัฒนธรรมสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ”
...
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า จังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการศึกษาต่างๆ ประสานการทำงานส่งเสริมให้ทุเรียนภูเขาไฟเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างงาน อาชีพที่ยั่งยืน ทำให้ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษก็มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยคุณลักษณะเฉพาะคือ เนื้อทุเรียนแห้ง นุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมเฉพาะ ไม่ฉุนมาก ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุเรียนทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะเกิดจากการปลูกในพื้นที่ภูเขาไฟโบราณแถบเทือกเขาพนมดงรัก ที่คุณสมบัติของดินให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชในปริมาณสูง สภาพภูมิอากาศของจังหวัดที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 18,830 ไร่ เกษตรกร 2,782 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกหลักอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.กันทรลักษ์ 11,027 ไร่ อ.ขุนหาญ 4,522 ไร่ และ อ.ศรีรัตนะ 2,238 ไร่ ส่วนที่เหลือยู่ในอำเภออื่นๆ เช่น อ.ขุขันธุ์ และ อ.ภูสิงห์ ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน GAP แล้ว 983 ราย พื้นที่ปลูกรวม 6,525.5 ไร่ และได้รับใบอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) แล้ว 447 ราย พื้นที่ปลูกรวม 2,596.25 ไร่
สำหรับปริมาณผลผลิตในปี 2567 จังหวัดศรีสะเกษคาดว่าจะมีทุเรียนภูเขาไฟออกสู่ตลาด 11,958 ตัน ซึ่งผลิตผลิตส่วนใหญ่รวมแล้วกว่าร้อยละ 80 จะออกในช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รวม 2,071.73 ล้านบาท แยกเป็นการขายส่ง 7,294.43 ตัน มูลค่า 1,094.16 ล้านบาท ขายปลีก 4,065.75 ตัน มูลค่า 813.15 ล้านบาท และขายออนไลน์ 597.90 ตัน มูลค่า 164.42 ล้านบาท.