ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลั่น ผิดเป็นผิด เราไม่เอาไว้ ปมถูกแฉจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาด ยืนยันไม่ยอมรับทุจริตทุกกรณี เดินหน้าตรวจสอบทุกโครงการไม่มีละเว้น ด้าน รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ยอมรับมีตาเพียงไม่กี่ตาอาจจะตรวจสอบได้ไม่ถี่ถ้วน


วันที่ 6 มิ.ย. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงข่าวกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายในศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ และศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ หลังจากที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาด โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ ผศ.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้พัฒนา actai.co ระบบตรวจสอบความโปร่งใส และแหล่งข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงการบริหารงานของ กทม. ประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และฝ่ายสภา ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็จะแบ่งเป็นขั้นตอน เรียกง่ายๆ ว่า 4+1 กล่าวคือ 1. ร่างข้อบัญญัติงบประมาณ 2. เข้าสภาเพื่อเป็นข้อบัญญัติ 3. เมื่อผ่านการเข้าสภาเพื่อตรวจสอบว่างบประมาณมีความเหมาะสมหรือไม่ตามกฎระเบียบต่างๆ จนได้ออกมาเป็น พ.ร.บ. ในขั้นตอนนี้ 4. ขั้นตอนการตรวจรับงาน และขบวนการสุดท้าย ที่บวก 1 คือกระบวนการจากภาคประชาชนในการตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ จะต้องร่วมกันทำอย่างจริงจังและเข้มข้น ในแต่ละขั้นตอนเราต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบในทุกๆ ขั้นตอน ลักษณะการปรับปรุงความเข้มงวดต่างๆ ต้องทำทั้ง 4 ขั้นตอน 

...

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าปัญหาการคอร์รัปชันยังมีอยู่ ไม่ได้หมดไป เรายังคงต้องเดินหน้าและปรับปรุงอยู่เสมอ เมื่อทราบเรื่องได้สั่งการให้ทางศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) ตรวจสอบทันที ซึ่ง ณ ขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบว่ามีจุดไหนที่เกิดความผิดพลาดอย่างไร ขณะเดียวกันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ได้เข้ามาตรวจสอบตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว เราเอาจริงเอาจังและไม่ยอมรับต่อการกระทำความผิด และจะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อขยายผลต่อ

“กรุงเทพมหานครและรัฐบาลจะต้องร่วมมือกัน ในการปรับปรุงตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการจัดซื้อจัดจ้าง และปรับปรุง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างในอนาคตต่อไป ถ้าประชาชนเอ๊ะ เราไม่เอ๊ะก็บ้าแล้ว เรายินดีให้ตรวจสอบ ยืนแก้ผ้าให้ดูได้เลย เราไม่เคยกลัว ผิดก็ต้องผิด เพราะไม่เคยสั่งให้ทำผิด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในด้านการตรวจสอบความโปร่งใส กทม. มีนโยบาย Open Bangkok เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสที่จะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆ ทุกๆ ขั้นตอน ไม่ว่าจะตรวจสอบผ่านระบบ EGP ของกรมบัญชีกลางและของกรุงเทพมหานคร หรือการเปิดเผยร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ เรายังร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT พัฒนา actai.co ซึ่งสามารถตรวจพบพิรุธหรือมีข้อน่าสงสัยในแต่ละจุด อาทิ โครงการที่มีบริษัทมายื่นข้อเสนอน้อย ราคากลางต่ำหรือสูงเกินไป เป็นต้น

“การมีตาเพียงไม่กี่ตาอาจจะตรวจสอบได้ไม่ถี่ถ้วน ฉะนั้นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเป็นเรื่องสำคัญที่ กทม. จะดำเนินการอย่างจริงจังร่วมไปกับประชาชนด้วยนโยบาย Open Bangkok” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

ด้าน ผศ.ต่อภัสสร์ กล่าวในรายละเอียดว่า actai.co เป็นการรวบรวมฐานข้อมูลจากภาครัฐในรูปแบบ open data เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ภาคประชาชนในการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐ โดยนอกจากการเปิดเผยข้อมูลแล้ว actai.co ยังมีระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถแจ้งเตือนเมื่อพบความผิดปกติ เช่น โครงการที่มีบริษัทมายื่นข้อเสนอน้อย ราคากลางต่ำหรือสูงเกินไป ฯลฯ